ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ จี้รัฐลงทะเบียนคนรวยเพื่อแจงทรัพย์สินเรียกเก็บภาษีเพิ่ม และนำเงินที่แจกคนจน 3,000 บาท มาจัดสวัสดิการรักษาพยาบาล-การศึกษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

วันที่ 11 ธ.ค. 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ-บำนาญแห่งชาติ จัดแถลงข่าว “หนุนสังคมเป็นธรรม ลงทะเบียนคนจน ต้องลงทะเบียนคนรวยด้วย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางเตือนใจ สมานมิตร สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐลงทะเบียนคนจนเพื่อแจกเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท ซึ่งทางเครือข่ายฯ มองว่าเป็นเรื่องสูญเปล่าและทำให้ประชาชนอ่อนแอ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอให้ 1.ลงทะเบียนคนรวยด้วย และ 2.นำเงินที่จะมาแจกคนจนมาจัดระบบสวัสดิการให้ดีขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

“ตอนนี้รัฐให้ลงทะเบียนแต่คนจน ถามว่าทำไมไม่ลงทะเบียนคนรวยว่ามีที่ดินเท่าไหร่ มีมรดกเท่าไหร่ เพื่อให้เขามาเสียภาษี คนรวยที่ถือครองที่ดินมากๆ ควรต้องเสียภาษีให้เยอะที่สุด ภาษีมรดกควรเก็บให้มาก แต่รัฐเข้าไปจัดการตรงนี้ไม่ได้ จะแจกแต่คนจน ถามว่าวันนี้แจกให้เขา เขาก็อ่อนแอไปตลอด แจกก็หมด ถ้าเอาเงินมาจัดสวัสดิการให้ดีขึ้นจะยั่งยืนกว่า” นางเตือนใจ กล่าว

ด้าน น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า รัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ แต่ถ้าทุกคนในประเทศไปลงทะเบียนว่าใครทำงานอะไร และชี้แจงเรื่องรายได้ เรื่องภาษี ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะทำให้รัฐรู้ว่าใครมีรายได้มากหรือน้อย จะเป็นธรรมกว่า และรัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนที่มีรายได้น้อยได้จริง

ขณะเดียวกัน การจัดสวัสดิการของรัฐนั้น รัฐต้องให้สวัสดิการกับประชาชนอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะ หลักประกันสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา และหลักประกันเมื่อสูงวัย โดยใช้เงินภาษีจัดสวัสดิการให้ ไม่ว่าจะคนจนหรือรวยก็มีสิทธิได้รับ

“สวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยลดรายจ่ายสำหรับคนจน หากไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมค่าการศึกษา และมีบำนาญประชาชน ส่วนคนรวยก็ต้องจ่ายภาษีความมั่งคั่งที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนรวย เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน เป็นการกระจายความมั่งคั่งของรัฐกลับคืนในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตอนนี้คนรวยที่สุดมีรายได้ต่างกับคนจนที่สุดถึง 22 เท่า” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ประชาชนต้องทำ คือ มีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยดูว่ารัฐสวัสดิการควรจัดได้แค่ไหน อย่างไร ส่วนรัฐนั้นจะจัดเก็บภาษีอย่างไรให้เป็นธรรม เช่น การขยายฐานคนเสียภาษี การกำหนดกติกา หรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้ประเทศมีฐานภาษี มีรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วม ไม่ใช่กำหนดจากคนกลุ่มเล็กๆ

“ประชาชนมีสิทธิกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปทางไหน เพราะถ้ารัฐมีงบประมาณจำกัดก็ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หากรัฐมีสวัสดิการที่ดี คนก็พร้อมที่จะเสียภาษี เพราะว่าก็จะได้รับประโยชน์กลับคืนมา การออกนโยบายให้คนจนมาลงทะเบียนไม่แก้ปัญหาในระยะยาว เพราะไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นสิทธิพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงในชีวิต และยังลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย”

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า การที่รัฐจ่ายเงินเป็นครั้งๆ เช่น ลงทะเบียนคนจนแล้วได้รับ 3,000 บาท ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป แล้วคนเหล่านั้นเขาจะอยู่ต่ออย่างไรเมื่อเงินหมด ซึ่งรัฐควรจัดสวัสดิการให้เป็นหลักประกันที่ยั่งยืนให้กับประชาชนมากกว่า