ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัยย้ำชัดร่าง พ.ร.บ.คุมการตลาดนมผง ช่วยปกป้องแม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ได้ห้ามซื้อ แต่คุมเข้มโฆษณาและส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบของนมผงสำหรับเลี้ยงทารก ไม่กระทบผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ  

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากการแถลงข่าวของนายกแพทยสภาและประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายในประเด็นร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ (Code milk) นั้น ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสำคัญและเห็นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายนี้ แต่ประเด็นที่เห็นต่างกันในรายละเอียดนั้น ขอชี้แจงดังนี้

“ความจริงแล้ว ร่าง พ.ร.บ.นี้ จะช่วยให้แพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมา การโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดมีส่วนสำคัญที่ทำให้แม่และครอบครัวมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโภชนาการเด็ก ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.นี้จะช่วยปกป้องแม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกอาหารได้อย่างเหมาะสม โดยไม่มีอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง”

ต้องเน้นย้ำ 3 ประการดังนี้ว่า ประการที่หนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผสมสำหรับทารกและเด็กเล็กของบริษัท คือห้ามโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้ห้ามการซื้อขาย ดังนั้น เด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผง ก็ยังหาซื้อได้ตามปกติ

ประการที่สอง ร่าง พ.ร.บ.ไม่ได้ห้ามบุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงดูเกี่ยวกับนมผง และในความจริงบุคลากรมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่แม่และผู้ปกครองไม่ว่าจะเรื่องนมผงหรือนมแม่ ไม่ใช่บริษัท

ประการที่สาม ขอบเขตการควบคุมผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุ 0-3 ปีตามร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่สุดโต่ง เพราะสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งทั้งองค์การอนามัยโลก และยูนิเซฟ ก็มีคำแนะนำตามนี้ และเพื่อห้ามส่งเสริมการตลาดข้ามผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลของแพทย์บางท่าน เช่น ประเด็นเรื่องอาหารทางการแพทย์ บางท่านเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อเด็กที่จำเป็นต้องใช้อาหารทางการแพทย์ หรือนมผงสูตรสำหรับเด็กป่วยโดยเฉพาะ ขอชี้แจงว่า ปกติอาหารทางการแพทย์ก็ไม่ได้มีการโฆษณาอยู่แล้ว จึงไม่ใช่ปัญหา และแพทย์ก็ยังสามารถให้ข้อมูลเรื่องอาหารทางการแพทย์ได้ ทำการสาธิตการใช้และสั่งจ่ายแก่เด็กที่จำเป็นต้องใช้ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ. มาตราที่ 22 ยังมีข้อยกเว้นว่า สามารถบริจาคอาหารทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลได้ ดังนั้น หากมีเด็กป่วยที่จำเป็นต้องใช้อาหารประเภทนี้ ซึ่งมีราคาแพง โรงพยาบาลก็ยังสามารถรับบริจาคได้

“หลายท่านกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาล การให้ข้อมูลแก่แม่และครอบครัว ขอเรียนว่าท่านยังทำได้เหมือนเดิมตามบทบาทหน้าที่ ไม่ว่าเด็กจะกินนมแม่หรือนมผง นอกจากนี้ยังสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นจริงและมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายได้เช่นเดิม”

“ขอย้ำอีกครั้งว่า ตามคำนิยามของร่าง พ.ร.บ.นี้ ผลิตภัณฑ์ที่จะมีการควบคุมการส่งเสริมการตลาด คือนมที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับเลี้ยงทารกและเด็กเล็ก หมายถึงว่า บนฉลากระบุว่าสำหรับเด็กที่อายุ 0-3 ปี ผลิตภัณฑ์นมทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นนมพาสเจอไรซ์หรือยูเอชทียี่ห้อต่างๆ เช่น นมจิตรลดา นมเปรี้ยว โยเกิร์ตไม่รวมอยู่ในขอบเขตของ พ.ร.บ.นี้” 

“ส่วนอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่นม ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดการควบคุมแยกไว้ว่า ห้ามทำการส่งเสริมการตลาดในโรงพยาบาล และห้ามส่งเสริมการตลาดกับแม่และครอบครัวของเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังควรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงการควบคุมในช่วงอายุอื่นๆ หรือในสถานที่อื่นๆ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว