ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอศิริวัฒน์” คาใจแพทยสภา-หมอเด็ก ออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ แฝงผลประโยชน์หรือไม่ เตือนธุรกิจนมหยุดล็อบบี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หันมาเคารพกติกา ด้าน NGOเด็ก ออกโรงหนุนชี้ถึงเวลาคุมโฆษณานมเด็ก ปลุกพลังพ่อแม่สู้

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และอดีตประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภา ร่วมกับประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย นายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กพ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. โค้ดมิลค์ (Code milk) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า ทราบว่าขณะนี้ธุรกิจนมผงวิ่งเต้นเพื่อยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างเต็มที่ และล่าสุดแพทยสภาร่วมกับหมอเด็กบางคน มีการกล่าวหาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สุดโต่ง จึงถือเป็นการบิดเบือนข้อมูลสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. และทำให้หมอท่านอื่นๆ หรือพ่อแม่เกิดความเข้าใจผิด

เนื่องจากสิ่งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้พยายามทำคือ ปกป้องคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของเด็กไทย ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ ซึ่งธุรกิจนม ต้องไม่ทำการตลาดโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เรียกง่ายๆว่าห้ามลดแลกแจกแถม โดยละเมิดกฎเกณฑ์สากลขององค์การอนามัยโลก แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่เคารพกฎกติกา พอบริษัทหนึ่งออกนอกกติกา บริษัทอื่นเห็นก็ทำตาม ต่างคนต่างละเมิด เน้นทำยอดขายโดยไม่สนใจสุขภาพของเด็ก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรค์ต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

“แปลกใจที่เขาออกมาคัดค้านกฎหมายนี้  เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีผลประโยชน์บางอย่างแอบแฝง และองค์กรที่ออกมาร่วมคัดค้าน เคยรับสปอนเซอร์จากบริษัทนมในลักษณะนี้หรือไม่ เช่น การจัดประชุม การเดินทางไปต่างประเทศ ฯลฯ ผมผิดหวังกับท่าทีของแพทยสภาและหมอเด็กกลุ่มนี้ที่บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง แทนที่จะทำหน้าที่ตักเตือนปกป้องสิทธิเด็ก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ แม้จะรู้ดีว่าเมื่อมีกฎหมายอะไรที่ไปกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจจะเกิดแรงต้านทันที และขอเรียกร้องให้ธุรกิจนมหยุดใช้วิธีสกปรก และหันมาเคารพกติกา”นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

นายเชษฐา มั่นคง

ด้านนายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) กล่าวว่า หากดูจากเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ ไม่ได้ห้ามขาย ห้ามแนะนำ ห้ามรับบริจาค ห้ามทำวิจัย แพทย์สามารถแนะนำวิธีการใช้นมผงและวิธีการทำอาหารเสริมตามวัยให้แก่พ่อแม่ได้ตามปกติ แต่สิ่งที่ห้ามคือ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น รับสปอนเซอร์ จัดประชุมวิชาการ พา ไปดูงานต่างประเทศ เอื้อประโยชน์ด้านต่างๆ เมื่อไหร่ที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน จะเกิดปัญหาขึ้นทันที บุคลาการทางการแพทย์จะทำหน้าที่เชียร์ โอ้อวดสรรพคุณให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมผงยี่ห้อนี้ สูตรนี้เท่านั้น โดยที่ไม่แนะนำการให้นมแม่อย่างที่ควรจะเป็น  

“คนที่ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร ทำไมไม่คำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นตัวตั้ง แต่กลับดึงการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องแทน อย่างไรก็ตามขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นี้เพราะจะทำให้แม่ใส่ใจลูกมากขึ้น ปกป้องเด็กจากการทำการตลาดของธุรกิจนมผง ปกป้องทารกให้ได้รับอาหารที่ดีที่สุด ในทางกลับกันเมื่อไหร่ที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน จรรยาบรรณจะหายไป ส่งผลกระทบกับคุณค่าและพัฒนาการสมวัยของเด็ก ไร้ข้อมูลที่ถูกต้อง ผลเสียตกอยู่ที่เด็กโดยตรง และขอเรียกร้องพ่อแม่ ทั่วประเทศออกมาส่งเสียงส่งสัญญาณต่อ สนช.ให้ยืนข้างความถูกต้องและปกป้องลูกหลาน  มากกว่าหลงกลเกมของนายทุนและนอมินีที่หวังเพียงผลประโยชน์ส่วนตน” นายเชษฐา กล่าว