ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีบทเรียน 10 ปีซีแอลชี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกกฎหมายในการช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นราคาแพง ทั้งเพิ่มอำนาจการต่อรองราคายา แนะทำซีแอลยาโซฟอสบูเวียร์รักษาไวรัสตับอักเสบซี ที่ยามีราคาแพงมากเพราะการผูกขาดด้วยสิทธิบัตร อีกทั้งกำลังใช้สารพัดวิธีในการยืดอายุการผูกขาดนั้นให้ยาวนานที่สุด

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ การแถลงข่าวจากเวที ‘มองไปข้างหน้า: บทเรียน 10 ปี CL และการเข้าถึงยาจำเป็น’ จัดโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชเอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกลไกการควบคุมราคายาที่มีประสิทธิภาพ การผูกขาดในการตั้งราคายาแต่เพียงผู้เดียวของยาที่มีสิทธิบัตร ทำให้ยามีราคาสูงอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นการทำซีแอลยังจำเป็น และต้องนำไปสู่การสร้างระบบสิทธิบัตรมีความสมดุลมากขึ้น

รศ.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นต้นแบบของโลกในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้าถึงยา การใช้สิทธิโดยรัฐหรือซีแอลเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทรัฐในการทำให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง การทำให้ยามีราคาถูกลงไม่ใช่เพื่อประหยัดงบประมาณของรัฐแต่เพื่อขยายจำนวนการเข้าถึงยาของผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากที่สุด  

“หากระบบการค้าโลกไม่สุดโต่ง ซีแอลคือส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมโลกเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะไม่ทอดทิ้งคนข้างหลังที่ยากจนเข้าไม่ถึงยา และพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้มีผลกระทบในเชิงการค้าและการพัฒนานวัตกรรมยา คนไทยต้องตระหนักตื่นตัวพิทักษ์ระบบหลักประกันสุขภาพและการเข้าถึงยาให้มั่นคงและยั่งยืน”

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงยาจำเป็น มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลังจากการใช้มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐของไทยผ่านมา 10 ปี แม้ว่าเราจะแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับยารักษาเอชไอวีและเอดส์ และสามารถลดราคายาโรคหัวใจและยามะเร็งได้บ้าง แต่เรากำลังเผชิญปัญหาการเข้าถึงยาในโรคอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่ยามีราคาแพงมากเพราะการผูกขาดด้วยสิทธิบัตร อีกทั้งอุตสาหกรรมยาข้ามชาติกำลังใช้สารพัดวิธีในการยืดอายุการผูกขาดนั้นให้ยาวนานที่สุด ดังนั้นซีแอลจึงเป็นคำตอบที่ผู้ทรงคุณวุฒิในสหประชาชาติแนะนำให้ประเทศต่างๆ พิจารณา

“ตราบใดที่ระบบการให้สิทธิบัตรของไทยยังขาดความสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิของบริษัทยากับสุขภาพของประชาชนอยู่ ปัญหานี้จะยังไม่หมดไป ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การเข้าถึงยาจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะยาจะถูกผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรมมากขึ้นผ่านข้อตกลงเขตการเสรีต่างๆ ที่กำลังเจรจาอยู่ และผ่านการทำสัญญาระหว่างบริษัทยาต้นแบบและบริษัทยาชื่อสามัญ (หรือที่เรียกว่าการให้สิทธิโดยสมัครใจ (voluntary license)) ซึ่งบังคับบริษัทยาชื่อสามัญไม่ให้ขายยาราคาต้นทุนต่ำแก่บางประเทศที่บริษัทยาต้นแบบไม่ต้องการให้ขาย เช่นในกรณียารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่ชื่อโซฟอสบูเวียร์ ที่ประเทศไทยถูกผูกขาดด้วยทั้งระบบสิทธิบัตรและการให้สิทธิโดยสมัครใจ  ดังนั้น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ (government use license) และมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory license) คือมาตรการยืดหยุ่นโดยชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายที่จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึง ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำในรายงานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม 2559”

ปัจจุบัน ราคายาไวรัสตับอักเสบซีของบริษัทต้นแบบครบโดสอยู่ที่ 2,500,000 บาท แต่ยาจากอินเดียราคา 20,000 บาท จึงควรพิจารณาใช้ซีแอลหากเจรจาต่อรองราคายาไม่เป็นผล

ด้านนายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมากลไกซีแอลนี้ได้รับการพิสูจน์ทั้งจากไทยและต่างประเทศว่ามีประโยชน์ แม้จะเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่มีความกล้าหาญทางการเมืองในการใช้มาตรการนี้ก็ตาม แต่ภาคประชาสังคมยังต้องช่วยเฝ้าระวังไม่ให้กลไกต่างๆ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงในระบบยาอ่อนแอลงไปจากการเจรจาทางการค้าและการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังมีความพยายามจากอุตสาหกรรมยาข้ามชาติที่ต้องการทำลายกลไกในการต่อรองราคายาเพื่อบีบบังคับให้ประเทศต้องซื้อยาราคาแพงเท่านั้น

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ย้ำว่า การเจรจาการค้าในกลุ่มอาเซียน+6 หรือ RCEP ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีสอดแทรกเนื้อหาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายในระดับต่างๆ ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง 

“ที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือต้องจับตา พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำลังมีผลบังคับใช้ เพราะเดิม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำขึ้นมาเพื่อเปิดทางให้ไทยได้เข้าร่วมการเจรจา TPP ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว ดังนั้นต้องติดตามการออกกฎกระทรวงที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาให้ยังคงกลไกในการสร้างความสมดุลในการจัดซื้อจัดหายาของประเทศไว้”

ทั้งนี้ ไทยประกาศซีแอลเป็นครั้งแรกใน “ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์” (Efavirenz) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ต่อมายังได้มีการประกาศซีแอลรายการยาอื่นที่จำเป็นต่อการเข้าถึงของผู้ป่วยเพิ่มเติม ปัจจุบันมียาที่ได้ประกาศซีแอลที่ยังคงในระบบ 3 รายการ คือ

1. ยาต้านไวรัสสูตรผสมโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ จากราคา 74.23 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 18.18 บาท/เม็ด และปี 2559 ราคา 12.35 บาท/เม็ด

2. ยาต้านไวรัสเอฟฟาไวเรนซ์ มีขนาดยาต่างๆ อาทิ ขนาด 600 มิลลิกรัม จากราคา 65.78 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 10.37 บาท/เม็ด ปี 2559 เหลือ 4.578 บาท/เม็ด เป็นต้น

และ 3. ยาโคลพิโดเกรล จากราคา 70 บาท/เม็ด หลังประกาศซีแอลเหลือ 1.08 บาท/เม็ด ปี 2559 ราคาอยู่ที่ 2.74 บาท/เม็ด

เมื่อคำนวณมูลค่าราคายาที่ลดลงจากการประกาศซีแอลทั้งหมด โดยใช้ราคายาในปี 2552 เป็นฐานคิดคำนวณพบว่า เฉพาะในกลุ่มยาต้านไวรัสตั้งแต่ปี 2553-2559 สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 16,569 ล้านบาท