ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ลำสนธิชี้ ปรากฎการณ์คนบ้าพลังในระบบสาธารณสุขมีมากขึ้น แนะเปิดโอกาสบุคลากรมีอิสระทำงานที่มีความหมายต่อผู้อื่น จะช่วยเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพคนให้สมบูรณ์ ด้าน ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เผยเคล็ดลับบริหารคน เน้นดูแลบุตรหลานเจ้าหน้าที่-เปิดโอกาสให้เติบโตตามความฝัน

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการ รพ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี  เปิดเผยในการเสวนาเรียนรู้การพัฒนาบุคคลในระบบสุขภาพจากองค์กรต้นแบบ ในงานประชุมระดับชาติ “การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ” (HR4H) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า จากประสบการณ์ทำงานในหลายพื้นที่มีข้อสังเกตว่ามีปรากฎการณ์กลุ่มคนที่บ้าพลัง ทำงานไม่หยุดหย่อน และอยากทำดี จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

นพ.สันติ ยกตัวอย่างในพื้นที่ รพ.ลำสนธิ มีปรากฎการณ์นักบริบาลที่ดูแลคนป่วยติดเตียงตามบ้านต่างๆ ซึ่งมีรายได้จากองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.)ไม่กี่พันบาท ตอนแรกคิดว่าคงลาออกกันเยอะ แต่ผ่านมา 6 ปีแทบไม่มีใครลาออกเลยแม้รายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายก็ไม่เปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น เพราะรู้สึกหัวใจพองโตทุกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่ตนดูแลอยู่และทิ้งกันไม่ลง

หรือศูนย์เด็กเล็กของโรงพยาบาล ก็ดำเนินการโดยบุคลากรที่เป็นนักจิตวิทยาซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวชื่อ“อ้อม” ที่มีความฝันอยากให้เด็กได้รับประทานอาหารเช้าดีๆ

“ความฝันของลูกจ้างชั่วคราวคือการได้บรรจุ วันหนึ่งอ้อมได้บรรจุจริงๆ แต่ต้องย้ายไปโรงพยาบาลอื่น อ้อมบอกว่าขอปฏิเสธการเป็นข้าราชการ เพราะถ้าหนูไป ใครจะดูแลเด็กๆ ที่ลำสนธิ นี่ก็เป็นปรากฎการณ์ที่ประหลาดมากที่คนเราปฏิเสธตำแหน่งราชการเพื่อจะได้ทำงานนี้ต่อไป” นพ.สันติ กล่าว

นพ.สันติ กล่าวอีกว่า ปรากฎการณ์คนที่ทำงานอย่างเต็มที่ภายใต้เงินนิดเดียว ไม่สามารถอธิบายด้วยกลไกปกติที่ว่าทำงานแล้วต้องมีเงินเป็นแรงจูงใจมากๆ ปรากฎการณ์นี้มีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ ถ้าทำความเข้าใจก็อาจจะทำให้เกิดภาพแบบนี้ได้อีกหลายพื้นที่ ซึ่งตนลองถอดรหัสแล้วคิดว่ามีคำตอบเดียวคือ ตัวงานเป็นแรงจูงใจด้วยตัวมันเอง

“แต่ไม่ใช่งานทุกงาน งานแบบนี้มีบางอย่างซ่อนอยู่ คือ 1.เห็นความหมายของงานที่ทำ ถ้างานนั้นมีความหมายต่อผู้อื่นจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญมาก 2.ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้อิสระเขาทำงาน งานจะไปได้ และ 3.ถ้ามีเสียงสะท้อนกลับที่ดี จะทำให้เขารู้สึกเติมเต็มและอยากจะทำไปเรื่อยๆ พองานงอกงาม คนก็สมบูรณ์ขึ้นด้วยตัวเอง” นพ.สันติ กล่าว

ด้าน นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย กล่าวว่า จากประสบการณ์ดูแลบุคลากรมาหลายรูปแบบตลาด 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าวิธีที่ดีที่สุดมีแค่ 2 ข้อ คือ 1.ดูแลเศรษฐกิจพอเพียงของครอบครัวและบุตรหลานของบุคลากร

“อย่างพนักงานทำความสะอาดของผม ไม่มี career path เงินเดือน 7,000-8,000 บาท/เดือน แต่เขาปลูกผักกาดมาขาย ได้เดือนละ 2,000-3,000 บาท เขาภูมิใจมาก แน่นอนว่าไม่ทำให้เขารวยขึ้น แต่เขารู้สึกมีคุณค่าขึ้นมาทันทีว่าผู้อำนวยการก็กินของเขา รวมทั้งเรื่องลูก ผมมีนักกายภาพมาขอพื้นที่ เอาลูกเจ้าหน้าที่มาเรียนหลักสูตรแม่บ้าน-แม่ครัวช่วงปิดเทอม ล่าสุดเราออกแบบโรงครัวใหม่ ให้ลูกเจ้าหน้าที่มาฝึกทำครัว นี่คือการดูแลลูกของบุคลากร ลูกเจ้าหน้าที่ ลูกคนงาน นอกจากนี้เรายังมีโครงการอื่นๆ อีกมาก เช่น พาเด็กไปดูนก สอนเล่นดนตรี ผู้ปกครองมีความสุขมากที่เห็นลูกตัวเองมีโอกาสในการเรียนรู้เท่ากับลูกคนอื่น ทุนชีวิตเริ่มใกล้เคียงกัน มนุษย์เราก็ขอแค่นี้แหละ” นพ.ภักดี กล่าว

2.การเปิดโอกาสให้คนเติบโต ทั้งเติบโตตามงานประจำหรือเติบโตตามความฝัน ซึ่งก็คือให้แสดงศักยภาพเต็มที่ เรียนรู้และสร้างสรรค์

“ตัวอย่างเช่น เราทำเรื่อง book start พยาบาลหัวหน้าฝ่ายเวชปฏิบัติของเราทำงานประจำก็หนักอยู่แล้ว ทำไมต้องมาทำเรื่อง book start เพราะเขาเชื่อว่านี่คือวิธีแก้ปัญหาความทุกข์ของพ่อแม่ได้ พ่อแม่กังวลเรื่องความรู้ การเรียนรู้ การเรียนเพื่อสถานะทางสังคม เพราะเขาเชื่อว่าความฉลาดจะทำให้เกิดความทัดเทียม หรือการออกแบบอาคารหลังคลอด ซึ่งบรรยากาศหลังคลอด ญาติต้องอยู่ด้วย เพราะการให้กำเนิดชีวิตคือการเฉลิมฉลอง ไม่ใช่ 4 โมงเย็นไล่กลับบ้าน รถทัวร์กรุงเทพ-ด่านซ้ายมาถึงเที่ยวแรกตอนตี 4 สามีต้องสามารถมาเยี่ยมลูกได้ตอนตี 4 ได้ เปลี่ยนวิธีคิดแค่นั้นเอง” นพ.ภักดี กล่าว

นอกจากนี้ อยากจะเน้นย้ำในเรื่องการทำงานกับเครือข่ายเพื่อให้การเติบโตเป็นไปพร้อมๆ กัน วันนี้กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าเราจะเป็นกระทรวงที่โดดเด่นที่สุด แต่กระทรวงก็ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน จะคิดแค่หน่วยงานตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นเวลาทำงานอะไรบางอย่าง ต้องเปิดกว้างให้หน่วยงานที่ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมด้วย