ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส.ชี้ สธ.เน้นความสุขในการทำงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วย แนะปรับระบบคิดรับยุค 4.0 เน้นสร้างเสริมสุขภาพประชาชนให้แข็งแรงเพื่อให้ได้คนไปพัฒนาประเทศ

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในการเสวนาเรื่อง ดูแลรักษาบุคลากรอย่างไรให้คงอยู่และมีพลัง ในงานประชุมระดับชาติ “การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ” (HR4H Forum 2017) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การให้ความสำคัญกับความสุขของคนทำงาน ไม่ใช่แค่มีความสุขเฉยๆ แต่มีความสุขแล้วต้องสามารถในการแข่งขันด้วย

“เจ้าหน้าที่มีความสุขคือสิ่งที่เห็น แต่ผลของการมีความสุขต่างหากคือสิ่งที่เราอยากได้ คุณ Maintain การทำงานได้หรือเปล่า Service ได้หรือเปล่า ที่สำคัญทำให้องค์กรพัฒนาได้หรือเปล่า เป็นคำถามที่ท้าทายมาก” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ภาพของการทำงานทุกวันนี้ก็คือพอถึงวันจันทร์รู้สึกห่อเหี่ยว วันศุกร์ดีใจจะได้หยุด มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดพบว่าเป็นแบบนี้ทั้งโลกถ้าเอางานเป็นตัวตั้ง เพราะรู้สึกว่างานคือภาระ วันที่ไม่ได้ทำงานคือวันที่มีความสุข

ขณะเดียวกัน สสส.เคยทำวิจัยเรื่องความสุขของข้าราชการ พบว่าข้าราชการที่มีเวลาได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อน เข้าวัดเข้าวา ได้ปฏิบัติจิตทางศาสนา ได้ทานอาหารที่มีกากใย มีบ้านใกล้ที่ทำงานจะมีความสุขมากกว่า จะเห็นได้ว่ามิติเรื่องความสุขเชื่อมโยงกับมิติการใช้ชีวิตมากกว่าการทำงาน ประเด็นใหญ่จึงเป็นเรื่องการบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวก่อน แล้วผลถึงจะกลับมาที่งานจริงๆ

นพ.ชาญวิทย์ย้ำว่า ผลที่ได้จากการมีความสุขคือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขต้องตีโจทย์ให้แตกว่าแข่งขันกับอะไร ประเทศไทยมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหัวใจสำคัญคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่ทำอยู่ คือเรื่องความคิดสร้างสรรค์ คือเรื่องนวัตกรรม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องปรับระบบคิดใหม่ทั้งระบบ เช่น พูดถึงเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนให้แข็งแรงเพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการทำงาน ไม่ใช่มองเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเดียว

“ถ้าวันนี้เรายังพูดเรื่องความเจ็บป่วย แสดงว่ากระทรวงยังทำงานเหมือน 50 ปีที่แล้ว ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น อายุขัยประชากรเฉลี่ย 80 ปี เพราะเขาคิดว่าทำอย่างไรจะทำให้คนแข็งแรงที่สุดเพื่อทำงานได้มากที่สุด บริษัทในญี่ปุ่นบอกว่าเขามีหน้าที่ Maintain ให้คนแข็งแรงได้มากที่สุด สิ่งที่เขาจะไม่ทำคือทำให้คนของเขาเจ็บป่วย นี่เป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสื่อไปถึงบริษัทญี่ปุ่นทั่วโลกรวมถึงไทย ถามว่าเขาห่วงใยสุขภาพคนไทยหรือ ไม่ใช่ แต่เขาต้องการให้คนไทยแข็งแรงเพื่อจะได้ทำงานให้บริษัทญี่ปุ่นเยอะๆ ดังนั้น ถ้ามองภาพใหญ่ คนไทยทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขนอกจากรักษาแล้วทำอะไรได้บ้าง เสริมสร้างสุขภาพได้ไหม ทำให้ประชาชนพร้อมทำงานได้ไหม เข้าไปทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ให้คนมีศักยภาพในการแข่งขันได้ไหม สมองดี ร่างกายดี จิตใจดีจะสร้างอย่างไร เรื่องการรักษาโรครักษาความเจ็บป่วยมันอยู่ท้ายๆ แล้ว” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร

ด้าน นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า หากเปรียบงาน HR เหมือนต้นไม้ที่มีความสมบูรณ์ออกดอกออกผล ในความคิดของตนมองว่าคนที่ปลูกต้นไม้คือคนที่สำคัญที่สุด ถ้าเปรียบเรื่องนี้กับการทำงาน คนปลูกต้นไม้ก็คือผู้นำองค์กร ต้นไม้จะโตไม่ได้ถ้าคนไม่ตัดสินใจปลูก และตัดสินใจว่าจะต้นอะไร

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ผู้นำองค์กรต้องมีความชัดเจนตั้งแต่การกำหนด Vision ขององค์กร ถ้าตั้งใจจะปลูกแอปเปิ้ลก็ต้องเอาแอปเปิ้ลมาปลูก ไม่ใช่เอาขนุนมาปลูก ดังนั้นผู้นำองค์กรตั้งแต่ระดับ รพ.สต.ไล่ขึ้นมาจนถึงส่วนกลาง ต้องมีความชัดเจนว่าจะนำพาองค์กรไปอย่างไร ถ้าผู้นำไม่ชัดเจนก็เท่ากับกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก

“วันนี้ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขทำอยู่คือเรื่องความสุขของประชาชน ถ้ามองเป็นดอกผลของต้นไม้คือประชาชนได้ประโยชน์จากกระบวนการของกระทรวง ถ้าผู้นำไม่เริ่ม คนในองค์กรจะทำสำเร็จไหม” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ไม่มีองค์กรไหนทำงานสำเร็จถ้าปราศจากผู้นำที่ดีและผู้ปฏิบัติงานที่ดี หากปล่อยให้เด็กทำ ผู้นำไม่ทำก็เสร็จครึ่งเดียว ผู้นำทำเด็กไม่ทำก็เสร็จครึ่งเดียว ดังนั้นเรื่อง HR ก็เหมือนงานกัน คือต้องมีความร่วมมือระหว่างผู้นำกับสมาชิกในองค์กร ซึ่งในเรื่องนี้การสื่อสารในองค์กรเป็นประเด็นที่มีปัญหามาก ผู้บริหารจะโดนวิจารณ์เสมอว่าอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่เข้าใจคนทำงาน ดังนั้นผู้นำต้องสื่อสารให้บุคลากรเกิดความเข้าใจร่วมกัน เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้จากการทำงาน และสร้าง share value ความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของขององค์กร

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นการธำรงรักษาคนดีคนเก่งไว้ในองค์กรนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องปลายน้ำ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อตัดสินใจปลูกต้นไม้คือต้องคัดเมล็ดพันธุ์ ในระบบการทำงานต้องสร้างระบบที่มีคุณธรรม องค์กรที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการทำให้บุคลากรมีคุณค่า เห็นความสำคัญ การสร้าง Career Path การมอบงาน มอบ KPI การส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มสมรรถนะ เพื่อให้บุคลากรได้สั่งสมประสบการณ์และให้ความเป็นธรรมในการเลื่อนขั้นเลื่อนลำดับ

“ระบบคุณธรรมตั้งแต่การคัดเลือก การสั่งสมคุณธรรม การเรียนรู้ การสร้าง Career Path การสร้างคุณค่า คนที่ต้องพูดเรื่องนี้คือผู้นำองค์กร ท่านต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจน” นพ.วิศิษฎ์ กล่าว