ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขมอบโล่เชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์แก่งานโรคเรื้อน ด้านมูลนิธิราชประชาสมาสัยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ รายละ 2,000 บาท หากตระหนักและมาแสดงตัวรักษาเอง หากมีผู้นำพามารับการรักษา ผู้นำพาจะได้รับ 1,000 บาท และผู้ป่วยได้รับ 1,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ 16 มกราคม 2560–15 มกราคม 2561

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 ที่สถาบันราชประชาสมาสัย อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.นพ.ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายสิทธิผล พวงสุวรรณ ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ร่วมโครงการสืบสานพระราชปณิธาน ราชประชาสมาสัย  “เปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง” พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมทำความดีด้วยการช่วยเหลือผู้พิการจากโรคเรื้อนให้สามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติสุข และกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เช่น การตรวจสุขภาพ บริการอุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูนฟรี จัดบริการเรือโดยสารข้ามฟาก เดินทางมายังสถาบันราชประชาสมาสัย ฟรี แก่ประชาชนที่มารับบริการ

นพ.ธวัช กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับโครงการโรคเรื้อนไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อจัดสร้างอาคารสำหรับค้นคว้าวิจัย และอบรมบุคลากรเพื่อขยายโครงการควบคุมโรคเรื้อน โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2501 และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2503 และได้พระราชทานชื่อว่า สถาบัน“ราชประชาสมาสัย” อันมีความหมายว่า พระราชากับประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน 

ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ปัญหาโรคเรื้อนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอัตราความชุกของโรคเรื้อน 50 รายต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน ลดลงเหลือ 0.8 ต่อประชากรหนึ่งหมื่นคนในปี 2537 และปัจจุบันเหลือเพียง 0.07 ต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน โดยในปี 2558 มีผู้ป่วยใหม่ 187 ราย แต่ปัญหาความพิการระดับ 2 (ความพิการที่มองเห็นได้) ในผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ยังคงสูงถึงร้อยละ 14 แสดงถึงการค้นพบผู้ป่วยล่าช้า ซึ่งทำให้มีการแพร่โรคต่อไปในชุมชน นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยชาวต่างชาติ 44 ราย ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมาร์ถึงร้อยละ 95 พบมากใน จ.เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน

ด้าน นพ.ธีระ กล่าวว่า ในขณะนี้มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนและครอบครัว และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเรื้อน นอกจากนั้นมูลนิธิยังได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ รายละ 2,000 บาท โดยจ่ายให้กับผู้ป่วยทั้งหมดหากเกิดความตระหนักและมาแสดงตัวรับการรักษาด้วยตนเอง และหากมีผู้นำพามารับการรักษา ผู้นำพาจะได้รับ 1,000 บาท และผู้ป่วยได้รับ 1,000 บาท โดยเริ่มตั้งแต่ 16 มกราคม 2560–15 มกราคม 2561

นพ.เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมและกำจัดโรคเรื้อน และไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2537 แต่ไม่ควรประมาทและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จึงได้เพิ่มมาตรการเพื่อดำเนินงานเร่งรัดกำจัดโรคเรื้อน ดังนี้

1) รณรงค์เร่งรัดค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนโดยเน้นพื้นที่ที่ยังพบผู้ป่วย ในพื้นที่ 53 อำเภอ ใน 26 จังหวัด  

2) การเฝ้าระวังโรคเรื้อนในกลุ่มประชากรต่างด้าว โดยพัฒนาแบบคัดกรองโรคเรื้อนภาษาต่างด้าว ได้แก่ เมียนม่าร์ กัมพูชา ลาว กะเหรี่ยง และยาวี  

3) การพัฒนาระบบส่งต่อและระบบให้คำปรึกษาในการวินิจฉัย และรักษาโรคเรื้อน โดยพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขเชี่ยวชาญโรคเรื้อน ในทุกเขตบริการสุขภาพ 20 แห่ง สนับสนุนระบบให้คำปรึกษา โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ การส่งต่อประสานงาน เพื่อลดความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคเรื้อน

และ 4) พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อน ด้วยการสำรวจความพิการ ปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายเพื่อให้การฟื้นฟูสภาพผู้พิการจากโรคเรื้อนในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่หายจากโรคเรื้อนแต่ยังมีความพิการ อาศัยอยู่ในชุมชนประมาณ 6,000 คน ซึ่งมีปัญหาด้านร่างกาย และสังคม เนื่องจากความพิการและการตีตราหรือความรังเกียจที่ยังมีอยู่ในชุมชน  จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมทำความดีด้วยการแนะนำผู้มีอาการสงสัยเป็นโรคเรื้อนให้รีบไปรับการตรวจรักษา เป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยและครอบครัวให้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่วยเหลือดูแลผู้พิการจากโรคเรื้อนให้สามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างปกติสุข นำไปสู่การไร้ตีตราที่ยั่งยืน  สำหรับอาการของโรคเรื้อน ได้แก่ ผู้ที่มีอาการผิวหนังเป็นวงด่างสีขาว หรือสีแดง ในวงด่างมีผิวแห้ง เหงื่อไม่ออก มีอาการชา หยิกไม่เจ็บ หรือผิวหนังเป็น ตุ่ม ผื่นนูนแดงไม่คัน ใช้ยากิน ยาทา 3 เดือน ไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422