ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในไทย จัดอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพทั่วประเทศ และสร้างเครือข่ายบูรณาการ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ทันต่อสถานการณ์ และร่วมมือกันแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาแบบบูรณาการ ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในคนดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยตลอดจนของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เนื่องจากพบว่าเชื้อโรคมีแนวโน้มดื้อยาต้านจุลชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรคติดเชื้อต่างๆ ที่เคยรักษาและควบคุมได้กลายเป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะโรคติดเชื้อที่เคยรักษาหายกลับรักษาไม่หาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มักจะได้ยามาหลายขนานแล้ว เชื้อดื้อยาเป็นภัยเงียบที่อยู่ใกล้ตัวเราอย่างมาก

โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 38,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และถ้าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาครบทุกขนานจะไม่มียาใดสามารถรักษาโรคติดเชื้อได้ ประกอบกับการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่มากเกินความจำเป็น เร่งให้การกลายพันธุ์เกิดเร็วขึ้น

ดังนั้นการชะลอปัญหาเชื้อดื้อยาจึงต้องเริ่มต้นที่ห้องปฏิบัติการก่อน โดยการตรวจจะต้องได้ผลถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว และต้องคอยติดตามปรับปรุงวิธีตรวจให้ทันกับเชื้ออยู่เสมอ นอกจากนี้การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นกระบวนการแรกที่จะทำให้ทราบขนาดและแนวโน้มของปัญหาเชื้อดื้อยา รวมทั้งตรวจจับเชื้อดื้อยาอุบัติใหม่ 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านห้องปฏิบัติการของกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการ ระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพื่อรายงานอุบัติการณ์ของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคและแนวโน้มการดื้อยา แต่ยังขาดระบบเฝ้าระวังผู้ป่วย เพื่อระบุที่มาและกลุ่มของปัญหา

ในฐานะของสมาชิกองค์การอนามัยโลกประเทศไทย จึงรับหลักการตาม Global Action Plan for Antimicrobial Resistance Containment ที่จะเข้าร่วมดำเนินการระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ระดับโลก (Global Antimicrobial Resistance Surveillance System, (GLASS)) เพื่อให้ทราบขนาดของปัญหาการดื้อยาในแต่ละพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการควบคุม ป้องกัน และประเมินกระบวนการจัดการโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดการอบรมเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลเครือข่าย เฝ้าระวังเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเจ้าพนักงาน วิทยาศาสตร์การแพทย์จากโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ทันต่อสถานการณ์ ทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการเครือข่ายและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการขยายขอบข่ายการเฝ้าระวังและควบคุมเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพให้ตอบสนอง การใช้งานทุกระดับ การอบรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย