ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘เอ็มเทค-รพ.เลิดสิน’ เปิดตัว ‘กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน’ ครั้งแรกฝีมือคนไทย รักษาผู้ป่วยมะเร็งกระดูก เหมาะกับกระดูกแขนคนไทย เผยที่ผ่านมาต้องนำเข้าและมีราคาแพง สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560) ที่โรงพยาบาลเลิดสิน กรุงเทพมหานคร ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดตัว “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน” ร่วมกับ หน่วยเนื้องอกกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่ออ่อน กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งออกแบบและผลิตได้เองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ เป็นมะเร็งชนิดที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมารับการรักษาเร็ว โดยมีอุบัติการณ์การเกิดโรคประมาณ 8.7 ต่อประชากร 1 ล้านคน และมักเกิดในเด็กวัยเรียน ทำให้เด็กเหล่านี้เสียโอกาสต่างๆ รวมทั้งพิการหรือเสียชีวิตได้

ปัจจุบันการรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการผ่าตัด จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตที่ 5 ปี ร้อยละ 60 หากมะเร็งยังไม่ลุกลาม ในกรณีที่ก้อนไม่ใหญ่มาก การผ่าตัดรักษามะเร็งกระดูก จะทำโดยการตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก ซึ่งมักจะรวมถึงข้อต่อบริเวณนั้นด้วย และใส่กระดูกและข้อต่อโลหะทดแทน ซึ่งจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูง ในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถจ่ายค่ากระดูกและข้อโลหะได้ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดโดยใช้วิธีอื่น หรือผ่าเชื่อมข้อ หรือในบางกรณีอาจต้องตัดแขนหรือขาที่เป็นออก เพื่อไม่ให้มะเร็งลามไปที่อื่น ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการกลับไปทำงานหรือดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงปกติ

ซึ่งการผ่าตัดมะเร็งกระดูก แล้วใส่กระดูกและข้อโลหะทดแทนนั้นมีมานานแล้ว แต่กระดูกและข้อโลหะนั้น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศ ทั้งรัฐและเอกชน จึงได้เริ่มโครงการโดยผลิตกระดูกและข้อโลหะต้นแขนก่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อออกแบบและผลิตกระดูกและข้อโลหะส่วนต้นแขนสำหรับคนไทย สามารถเลือกความยาวของโลหะให้สัมพันธ์กับความยาวของมะเร็งที่ทำลายกระดูกและมีคุณภาพเท่าเทียมกับของต่างประเทศในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้คนไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกมีโอกาสได้ใช้ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย

นพ.ปิยะ เกียรติเสวี นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เริ่มจากอนุสาขาเนื้องอกกระดูกและระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมออกแบบกระดูกและข้อโลหะต้นแขนแบบแยกชิ้นปรับความยาวได้ ร่วมกับ ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยวิเคราะห์ความเข้ากันได้ทางกายภาพ รูปร่างของกระดูกต้นแขนเทียมที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด กับข้อมูลกายวิภาคคนไทย ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด และนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบกระดูกต้นแขนเทียมสำหรับผู้ป่วย

ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์  ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การเปิดตัวผลงานวิจัย “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน” นี้เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ผลิตโลหะทดแทนกระดูก” ซึ่งกลุ่มศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ อนุสาขาเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ทำโครงการนำร่อง (TMSTS-MTEC Proximal Humerus Endoprosthesis) ออกแบบและผลิตกระดูกต้นแขน ด้วยโลหะแทนกระดูกแขน สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระดูก เพื่อทดแทนกระดูกและข้อที่มีราคาแพงมาก เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีทุนทรัพย์น้อยได้ใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรอเก็บข้อมูลหลังการใช้งานจริง

ซึ่งในส่วนนี้ ดร.กวิน การุณรัตนกุล นักวิจัยห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นผู้วิจัย โดยนวัตกรรม “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน” เหมาะกับคนไข้กลุ่มปฐมภูมิ ที่พบว่าเป็นมะเร็งกระดูกแขนเหนือข้อศอก ซึ่งจะพบมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน หากตรวจพบแล้วสามารถรักษาก่อนที่จะลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ จะใช้วิธีการเปลี่ยนเอา“กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน” ไปใส่แทนกระดูกแขนที่เป็นมะเร็ง ซึ่งต้องตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออก วิธีการนี้จะช่วยให้คนไข้อยู่ได้นานขึ้น ลดการเสียชีวิต และสามารถกลับมาเรียนจนจบได้ มีอาชีพการงานที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในสังคม

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เอ็มเทค สวทช. และ รพ. เลิดสิน ร่วมกันออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวขึ้นมา และต้องการผู้ผลิตตามสเปกที่ต้องการ โดย บริษัท คอสโม เมดิเทค จำกัด ให้ความสนใจในการผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว และร่วมมือในการผลิตตามที่ทีมวิจัยต้องการ ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ จึงสามารถขึ้นรูปต้นแบบอุปกรณ์ “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน” ได้ ซึ่งสามารถผลิตออกมาใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกต้นแขนส่วนบนได้ในที่สุด

ชิ้นส่วนกระดูกเทียมท่อนแขนส่วนบนนี้ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่คนไข้ไม่สามารถเบิกได้จาก สปสช. ซึ่งการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นนี้ มีราคาแพงเพราะนำเข้าจากต่างประเทศราคาเริ่มต้นประมาณ 150,000 บาท ดังนั้นจะมีคนไข้จำนวนมากที่ไม่สามารถจ่ายได้ หากสามารถผลิตได้ภายในประเทศและมีต้นทุนต่ำ ก็จะช่วยเหลือคนไข้ได้มาก โดยเฉพาะคนไข้เด็กที่มีโอกาสผ่าตัดใส่กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบน แล้วรักษาหายและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงานไม่เป็นภาระกับสังคม ที่สำคัญยังมีแขน แม้ว่าจะขยับได้ไม่ 100% แต่ก็ยังมีแขนที่ขยับใช้งานได้ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพการใช้ชีวิตของคนไข้หลังการรักษาได้

สำหรับวัสดุที่ใช้ทำ “กระดูกและข้อโลหะต้นแขนเทียมส่วนบน”  มีทั้งโคบอล โคเมียม อัลลอย์ ส่วนแกนกลางของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมกับกระดูกจริงของผู้ป่วยมะเร็งกระดูก ทำจากวัสดุไททาเนียม มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน แต่เบา และเข้ากับร่างกายได้ดี ไม่เกิดการต่อต้าน ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองนำไปใช้กับผู้ป่วยมะเร็งกระดูกแล้ว 10 ราย พบว่าไม่มีการติดเชื้อ หรือปัญหาการหลุดของชิ้นส่วนแต่อย่างใด เป็นที่พอใจของแพทย์และผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของการวิจัย ถือเป็นการสะสมองค์ความรู้เรื่องวัสดุทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการทำชิ้นส่วนเทียมที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ ซึ่งหากทำชิ้นนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในอนาคตเมื่อมีองค์ความรู้มากขึ้น ก็สามารถทำชิ้นส่วนอื่นๆ เช่น ข้อเข่า สะโพก ที่มีความยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้ ปริมาณการใช้ของผู้ป่วยก็จะเพิ่มมากขึ้น คนไข้มีโอกาสได้ใช้งานในราคาที่เข้าถึงได้ หากนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพง

ทั้งนี้ ได้มีการผ่าตัดใส่กระดูกและข้อโลหะต้นแขนส่วนบนที่ผลิตได้เองในประเทศไทยทดแทนกระดูกในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกบริเวณต้นแขนและหัวไหล่ ให้แก่ผู้ป่วย จำนวน 10 คน ภายหลังผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ซึ่งผู้ป่วยจำนวน 6 คน ได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเลิดสิน ผู้ป่วยจำนวน 3 คน ได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผู้ป่วยอีก 1 คน ได้รับการผ่าตัด ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถใช้งานแขนข้างที่ผ่าตัดได้เหมือนกับข้อและกระดูกโลหะจากต่างประเทศ ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ ในผู้ป่วยทั้ง 10 คน ผลเป็นที่น่าพอใจแก่ทีมผู้วิจัยเป็นอย่างยิ่ง ในอนาคตจะมีการขยายงานวิจัยนี้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรวบรวม ศึกษาข้อมูลนำมาพัฒนาต่อไป รวมถึงขยายการออกแบบและผลิตกระดูกและข้อโลหะบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย