ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาการสาธารณสุขชุมชนข้องใจกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 จำนวน 7 ฉบับถูกดองไม่เสนอรัฐมนตรีพิจารณาสักที ด้านที่ปรึกษารัฐมนตรีสาธารณสุขเตรียมจัดเวทีหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นอีกครั้ง

นายริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน และโฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา นายไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือถึงความล่าช้าในการออกกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 โดยมี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีมาเป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายริซกี กล่าวว่า พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2556 ที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนเพื่อออกกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยกฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับแรกเป็นข้อบังคับในการบำบัดโรคเบื้องต้นซึ่งคาบเกี่ยวกับวิชาชีพอื่นทำให้มีการคัดค้านเกิดขึ้น แม้จะมีการทำประชาพิจารณ์ไป 2-3 รอบแล้ว มีการปรับแก้ถ้อยคำและลดขอบเขตการรักษาของหมออนามัยลง แต่เมื่อส่งร่างฉบับแก้ไขไปที่กองกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว กองกฎหมายก็ทำหนังสือสอบถามไปยังกลุ่มที่คัดค้านทุกรอบ ไม่เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาเสียที

"กฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับแรกที่เกี่ยวกับการบำบัดโรคเบื้องต้นมีผลกับการทำงานของหมออนามัยทั่วประเทศ เรายังฉีดยา ยังรักษา ยังทำอะไรตามขอบเขตเดิมอยู่ ถ้าเมื่อไหร่ที่บอกว่าตรงนี้ไม่ควรให้ผ่าน หมออนามัยก็จะได้หยุดงานรักษาไปทำเรื่องส่งเสริมป้องกันแทน มันจะได้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นเท่ากับให้เราทำแต่ไม่ให้กฎหมายคุ้มครองเรา ดังนั้นเรื่องนี้ควรจะต้องมีข้อสรุป ซึ่งเราก็ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว มีการปรับปรุงลดสเกลการรักษาลง ทำหมดแล้ว แต่หลายเดือนที่ผ่านมาเรารู้แล้วว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่การคัดค้านของวิชาชีพอื่น แต่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกองกฎหมาย ทำไมกฎหมายเราไม่ผ่านเสียที" นายริซกี กล่าว

นอกจากนี้ หลังจากนั้นทางสภาการสาธารณสุขชุมชนยังเสนอกฎหมายลำดับรองตามไปอีก 4 ฉบับ มีเนื้อหาเช่น การรับรองหลักสูตร ข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสภาการสาธารณสุขชุมชน แต่กองกฎหมายกลับวินิจฉัยว่ามี 2 ฉบับที่เกี่ยวกับวิชาชีพอื่น เช่น การรับรองหลักสูตรสาธารณสุขชุมชนหรือหลักสูตรหมออนามัย ส่วนอีก 2 ฉบับที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นแต่จะรอให้อีก 2 ฉบับแรกเสร็จก่อนถึงจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน จึงเกิดคำถามว่าทำไมต้องรอ

"เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าส่วนไหนที่ตีความว่าเกี่ยวกับวิชาชีพอื่น ๆ ก็มาคุยกันว่าเกี่ยวอย่างไร แต่กฎหมายที่ไม่เกี่ยวล่ะ ทำไมต้องรอ เทียบกับเรื่อง พ.ร.บ.ปฐมภูมิ ทำแป๊ปเดียว มีการทำประชาพิจารณ์เหมือนกัน แต่ก็ผ่าน แต่ของหมออนามัยทำไมมีปัญหาล่าช้า วกไปเวียนมา เฉียดหน้าห้องรัฐมนตรีแต่ไม่ถูกนำเสนอเสียที" นายริซกี กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่ตัวแทนสภาการสาธารณสุขชุมชนได้หารือกับ นพ.ประพนธ์ ในประเด็นดังกล่าวแล้ว มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดเวทีเพื่อให้สภาสาธารณสุขและอีก 7 วิชาชีพมาหารือกันอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป และเห็นว่ากฎหมายลำดับรองจำนวน 2 ฉบับที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่นน่าจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาได้เลย โดยหลังจากนี้ทางวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนจะได้จับตาความคืบหน้าในการดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป