ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คกก.กำลังคนด้านสุขภาพเดินหน้าข้อเสนอการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า ย้ำต้องกระจายบุคลากรและเน้นคุณภาพมากกว่าเร่งจำนวนผลิต เสนอให้ใช้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งระบบปฐมภูมิ ขับเคลื่อน ‘ทีมหมอครอบครัว’ ทำงานร่วมกันเป็นทีมสุขภาพ

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 1/2560 หัวข้อ “ล้นตลาดหรือขาดแคลน! ถึงเวลา ‘สแกน’ กำลังคนด้านสุขภาพ”

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี

ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การวาง ‘โรดแมป’ กำลังคนด้านสุขภาพ มีความจำเป็นเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ปัญหาสุขภาพมีแนวโน้มของโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น ซึ่ง ต้องการบุคลากรที่ดูแลสุขภาพระยะยาวและตอบสนองปัญหาสุขภาพจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ที่มี .นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน เพื่อร่วมกันวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพแบบครบวงจรทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ การกระจาย และธำรงรักษาไว้ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

“องค์การอนามัยโลกได้กำหนดอัตราแพทย์และพยาบาลที่เพียงพอ ต้องไม่น้อยกว่า 2.28 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน ซึ่งประเทศไทยมีอัตราอยู่เหนือเส้นกำหนดขั้นต่ำนี้ แต่สังคมยังรู้สึกว่ากำลังคนด้านสุขภาพยังไม่เพียงพอ สะท้อนว่าแนวทางการบริหารการจัดการและกระจายบุคลากรที่มีอยู่ยังขาดประสิทธิภาพ จำนวนที่เริ่มเพียงพอแต่มากระจุกตัวกันอยู่ในเมืองที่มีโรงพยาบาลใหญ่ๆ ขณะที่พื้นที่ห่างไกลก็ยังคงขาดแคลนเหมือนที่ผ่านมา”

สิ่งที่ควรพิจารณาคือแนวทางการเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายหรือมาตรการผลิตบุคลากรเพื่อสร้างความเท่าเทียมในชุมชน ชนบทและเมือง รวมถึงการผลิตบุคลากรที่ใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจบริบทปัญหา และพูดภาษาเดียวกันกับชุมชน ทำงานกันเป็นทีมสุขภาพ เพราะกำลังคนด้านสุขภาพนั้นไม่ได้มีเพียงหมอ พยาบาล แต่ครอบคลุมทั้งบุคคลที่มีบทบาทด้านการสร้างเสริมป้องกัน รักษาฟื้นฟู ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ สายสนับสนุน แพทย์แผนไทย ตลอดจนบุคคลต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ สนับสนุนความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ เช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สอดคล้องกับนโยบาย ‘ทีมหมอครอบครัว’ และ ‘ระบบสุขภาพอำเภอ’ ของกระทรวงสาธารณสุข 

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนเห็นไม่ต่างกันต่อปัญหากำลังคนด้านสุขภาพ คือ ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณหรือจำนวน เพราะสังคมไม่ได้ต้องการแค่ผู้รักษาโรคเท่านั้น แต่ต้องการผู้นำและทีมสุขภาพที่จะเปลี่ยนแปลงคน ครอบครัว และชุมชนนั้นๆ ด้วย”

นพ.ฑิณกร โนรี

นพ.ฑิณกร โนรี เลขานุการคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า กล่าวว่า คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดทำ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2560-2569) ซึ่งผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผู้ใช้ ภาครัฐ เอกชน ผู้ผลิต และสภาวิชาชีพ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานรวม ๑๕ ชุด ศึกษาอัตรากำลังคนใน 9 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สาธารณสุข แพทย์แผนไทย และสัตวแพทย์ รวมทั้งกำลังคนในระบบสุขภาพรูปแบบต่างๆ อาทิ ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ สถานีอนามัย และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

“เราพบว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า บางวิชาชีพยังขาดแคลน และบางวิชาชีพมีแนวโน้มผลิตเกินความต้องการ เพราะตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาขาดแพทย์และพยาบาลด้วยการเพิ่มปริมาณผลิต เช่น เดิมเคยผลิตแพทย์ได้ปีละ 800 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 3,000 คน หรือเกือบ 4 เท่า ตรงนี้อาจกลายเป็นการผลิตสะสมจนมาถึงจุดที่ต้องระวังว่า ในอนาคตประเทศไทยจะผ่านพ้นสภาพขาดกำลังคนมาประสบปัญหาใหม่ คือ กำลังคนล้นเกินในบางวิชาชีพก็ได้”

นพ.ฑิณกร กล่าวอีกว่า การประเมินภาพอนาคตของระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า พบว่าควรมุ่งให้ประชาชนมีศักยภาพดูแลสุขภาพของตนเอง และเน้นการให้บริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง บูรณาการความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย จัดบริการสุขภาพในพื้นที่ เป็นเครือข่ายอย่างทั่วถึง

ผลการศึกษาพบว่า ช่วง 10 ปีข้างหน้า วิชาชีพสาธารณสุขมีโอกาสที่จะล้นตลาด เพราะผลิตถึงปีละ 14,000-15,000 คน จึงควรทบทวนและปรับสมรรถนะของบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพ เช่น รองรับสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น

ส่วนวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย หรือแผนไทยประยุกต์ มีอัตราการผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่กลุ่มวิชาชีพพยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ แม้จะยังไม่เพียงพอแต่ก็ไม่ได้ขาดแคลนมากนัก การเพิ่มอัตราการผลิตจึงต้องระมัดระวัง อาจใช้วิธีการบริหารจัดการ เช่น ลดความสูญเสียนิสิตที่เรียนเภสัชศาสตร์หลายร้อยคนที่ลาออกในปีที่ 2 เพื่อไปสอบเรียนแพทย์ เป็นต้น

นพ.ฑิณกร กล่าวว่า การเรียนการสอนวิชาชีพต้องตอบสนองต่อวิถีชีวิต สังคม และระบบสุขภาพของคนไทยในอนาคตเป็นหลัก จึงต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้ผลิต ผู้ใช้บริการ หน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย สถานบริการภาคเอกชน สภาวิชาชีพ ให้เกิดภาพใหญ่ร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติจะเสนอข้อเสนอข้างต้นให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพิจารณาต่อไป

“การผลิตบุคลากรด้านสุขภาพในอนาคตนอกจากตอบโจทย์เรื่องการกระจายบุคลากร และต้องสร้างความเข้มแข็งในบริการระดับปฐมภูมิแล้ว ยังต้องมองการพัฒนาบุคลากรไปให้ไกลกว่าวิชาชีพหมอพยาบาล แต่ให้รวมถึงผู้ที่มีทักษะที่จำเป็นอื่นๆ ด้วย เช่น ไอที เป็นต้น” 

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร

นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จุดอ่อนสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ทุกภาคส่วนต้องทุ่มเททรัพยากรและกำลังคนไปที่งานส่งเสริมป้องกันโรคให้มากขึ้น พร้อมกับการปรับทัศนคติใหม่ ให้คนมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพของตัวเองทั้งเชิงป้องกันและรักษา ให้ประชาชนมี Self Management หรือดูแลตัวเองก่อนที่จะตัดสินใจไปพบแพทย์ และสร้างช่องทางให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพไปให้ถึงประชาชน ที่สำคัญต้องรองรับด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้นโยบาย Health in All Policies หรือทุกนโยบายต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของคน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้คนปรับพฤติกรรม เช่น เพิ่มสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น

“ต้องมองข้ามเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพว่าไม่ใช่หมายถึงแค่หมอพยาบาลเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทุกคน รวมถึงคนในครอบครัว และคนในชุมชน ที่จะช่วยกันดูแลสุขภาพของแต่ละคนก่อนเป็นลำดับแรก แต่ยอมรับว่าไม่ง่ายและเป็นเรื่องที่ไม่สามารถสั่งการโดยรัฐได้ แต่เห็นว่าทำได้ในระดับพื้นที่หากมีผู้นำที่เอาจริง ตัวอย่างเช่นในจังหวัดสระบุรีได้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำเป็นตัวอย่างในการดูแลสุขภาพของตัวเองก่อน และมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในจังหวัดทำในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน”

นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวต่อว่า อีกจุดอ่อนหนึ่งที่ต้องแก้ไขอีกเรื่อง คือ ต้องหาแนวทางที่จะกระจายกำลังคนด้านสุขภาพลงไปให้ทั่วถึงด้วยไม่กระจุกตัวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอีกด้วย       

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ยันวิชาชีพนักสาธารณสุขขาดแคลน รพ.สต.ยังมีบุคลากรไม่พอ