ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอมรุต’ แจง 14 ประเด็นแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ มีบางข้อที่ คกก.แก้ไข บางข้อไม่แก้ ยึดตามกฎหมายเดิม เช่นเรื่องร่วมจ่าย ความครอบคลุมจัดหลักประกันสุขภาพ ยึดตามกฎหมายเดิม ข้อที่แก้ไข เช่น ตัดมาตรา 42 การไล่เบี้ยออก ปรับนิยามบริการสาธารณสุข เป็นต้น

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... , นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการฯ และ ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการดำเนินงานประชาพิจารณ์ ได้จัดแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ภายหลังเกิดเหตุการณ์ตัวแทนภาคประชาชนได้วอล์กเอาต์และชูป้ายแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.สงขลา

ทั้งนี้ นพ.มรุต สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่คณะกรรมการฯได้ปรับปรุงแก้ไขในทุกประเด็น โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในส่วนของประเด็นการจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่ไม่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย นพ.มรุต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่ได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยบริการ เครือข่ายหน่วยบริการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพตามมาตรา 41 และหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานองค์กรเอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช.

อย่างไรก็ดี ในการปรับแก้กฎหมายครั้งนี้ ได้ปรับให้จ่ายเงินให้แก่หน่วยบริการ สถานบริการ อปท. ผู้รับบริการ/ผู้ให้บริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพตามมาตรา 41 และหน่วยงานของรัฐ โดยที่หน่วยบริการ หรือ อปท. สามารถมอบให้องค์กรเอกชนรับภาระไปดำเนินการต่อได้

ขณะที่ประเด็นการใช้จ่ายเงินกองทุนในความครอบคลุมของค่าใช้จ่าย นพ.มรุต กล่าวว่า เป็นประเด็นปัญหาที่ประชาชนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขโดยตรงแก่บุคคล ซึ่งถ้าเอาคำว่า “โดยตรง” ออก แต่ยังให้บุคคลอยู่ ความหมายจะต่างจากเดิมหรือไม่

นพ.มรุต ยืนยันว่า สิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ประชาชนจะไม่น้อยกว่าเดิม แต่ต้องให้ผ่านหน่วยบริการ หมายความว่างบประมาณที่จัดสรรไปนั้น หน่วยบริการต้องเป็นผู้ดำเนินการโดยสามารถจ่ายเป็นค่าบริการสาธารณสุขได้ และที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ สามารถที่จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขได้ด้วย ซึ่งแต่เดิมกฎหมายไม่ได้กำหนดในส่วนนี้ไว้

“นั่นหมายถึงว่าการรับเงินของหน่วยบริการ เมื่อรับมาแล้วจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายเพื่อให้ประชาชนโดยตรง ต้องจ่ายเป็นค่ายา ค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่สมมุติต้องเดินทางออกไปฉีดวัคซีน ในส่วนนั้นค่าน้ำมัน ค่าเดินทางไม่สามารถเบิกได้ แต่ขณะนี้แก้ไขให้หน่วยบริการใช้เงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการจัดบริการได้ด้วย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น สมมุติเช่น ได้รับเงินมาเพื่อให้บริการผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน หน่วยบริการก็สามารถรับเงินโดยถือว่าเป็นเงินของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งในส่วนของ สธ. ก็ถือว่าเป็นเงินบำรุง สามารถนำไปใช้ตามหลักการของเงินบำรุงได้ จ่ายเป็นค่าน้ำค่าไฟสำหรับสถานบริการที่เปิดให้บริการประชาชนได้ ซึ่งแต่เดิมกฎหมายไม่ได้เอื้อในส่วนนี้ไว้” นพ.มรุต กล่าว

นอกจากนี้ การจ่ายเงินแก่บุคคลโดยตรง ซึ่งคำว่าบุคคลนี้ ความหมายลึกๆ คือจ่ายให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นปัญหาว่าบางคนได้ บางคนไม่ได้ทั้งๆ ที่ปฏิบัติงานในเวลาราชการเหมือนกัน

“ตรงนี้เราก็กำหนดไว้ว่าให้จ่ายเพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนนี้ให้กับบุคลากร โดยที่ขอว่าอย่าไปจ่ายโดยตรงให้แก่บุคลากรวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ตรงนี้ในกฎหมายเดิมกำหนดไว้เช่นนี้ คณะกรรมการฯ ก็ยืนยันว่าไม่ปรับให้แก่บุคคลเท่านั้นเอง” นพ.มรุต กล่าว

อีกส่วนที่สำคัญคือ ประเด็นเรื่องผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ ซึ่งแต่เดิมเขียนไว้ในมาตรา 41 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับความเสียหาย แต่จะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงปรับแก้กฎหมายให้ผู้ให้บริการได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นด้วย แต่จะต้องเป็นผู้ที่ให้บริการเฉพาะผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น และส่วนที่เกี่ยวเนื่องกันคือคณะกรรมการฯ ได้ขอยกเลิกมาตรา 42 กล่าวคือหากเป็นความผิดพลาดในการให้บริการที่ไม่ได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ไม่มีการไล่เบี้ยผู้ให้บริการ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความครอบคลุมของการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับบุคคลในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่าบุคคลมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน คำว่าบุคคลนี้ รัฐธรรมนูญหมายถึงประชาชนคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนกลุ่มคนไทยที่ยังไม่พิสูจน์สิทธิหรือคนต่างชาติที่มาอยู่ในเมืองไทยจะได้สิทธิหรือไม่ คณะกรรมการฯ มีการพูดคุยกันอย่างมากและสรุปว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยขอให้ครอบคลุมคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยก่อน

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า ในส่วนของประเด็นเรื่องการร่วมจ่ายค่าบริการ แต่เดิมเขียนในมาตรา 5 ว่า คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับบริการสาธารณสุข ต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนด เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

“ประเด็นนี้ชัดเจนว่าใช้คำว่า “อาจจะ” แต่เดิมก็ร่วมจ่ายอยู่แล้วที่ 30 บาท แต่มารัฐบาลก็กำหนดให้ไม่ต้องร่วมจ่าย เราเลยบอกว่าประเด็นนี้ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็แล้วกัน ตรงนี้ก็ไม่มีการแก้ไข” นพ.มรุต กล่าว

ในส่วนของประเด็นการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ร่วม แต่เดิมกฎหมายก็ไม่ได้เขียนมอบอำนาจให้ สปสช. แต่ทาง สปสช.เห็นประโยชน์ในเรื่องนี้จึงดำเนินการเรื่อยมาและถือเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย เพราะการจัดซื้อยาร่วมโดยเฉพาะยาหายาก ยาราคาแพง และยาที่ใช้น้อยแต่จำเป็น จำเป็นต้องมีคนที่ต่อรองราคาให้ราคาถูกลง

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการฯ ไม่ได้แก้กฎหมายให้ สปสช.มีอำนาจทำเรื่องนี้ได้ เนื่องจากยังมีระบบสุขภาพอื่นที่น่าจะร่วมต่อรองราคาด้วย คือสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ จึงมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อเป็นคณะกรรมการต่อรองราคาระดับชาติเพื่อให้ทุกสิทธิได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน

“ตรงนี้หลายคนบอกว่ารับรองได้หรือไม่ว่าประชาชนไม่เสียประโยชน์ ก็ต้องบอกว่าเราไม่ใช่จะเอามาทำเองโดยไม่ดูเนื้อหาแต่อย่างใด ก็ยังเชิญ สปสช. ซึ่งมีข้อมูลมาทำการจัดซื้อยาร่วมเช่นเดียวกัน และจะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทยเพราะจะมีจำนวนการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น” นพ.มรุต กล่าว

ในส่วนของประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องการกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้มีการปรับเพิ่มบางส่วนและปรับลดบางส่วน โดยเฉพาะสัดส่วนของผู้แทน อปท. แต่เดิมมี 4 กลุ่มและปรับให้เป็น 3 กลุ่ม นพ.มรุต กล่าวว่า เรื่องนี้ตัวแทน อปท.ได้บอกในคณะกรรมการฯเองว่าให้เหลือเพียง 3 กลุ่มก็พอ คณะกรรมการฯ ไม่ได้ไปตัดลดเอาเอง

ขณะที่ส่วนที่เติมเข้ามานั้น เป็นสัดส่วนตัวแทนของหน่วยบริการ ทั้งตัวแทนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยภาครัฐ ตัวแทนโรงพยาบาลสังกัดกลาโหมและตำรวจ โรงพยาบาลในส่วนของ อปท. และตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน เข้ามาอย่างละ 1 คน

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัด สธ. มีเพิ่มเข้ามา 3 ส่วน คือส่วนของตัวแทนโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ตัวแทนโรงพยาบาลชุมชน และตัวแทนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

“ทั้ง 3 ส่วนนี้น่าจะเป็นตัวแทนที่เข้ามาเพื่อเป็นปากเป็นเสียง ที่จะบอกว่าโครงการใดสามารถทำได้จริงและมีประสิทธิภาพจริง เพราะของเดิมที่ผ่านมา ผู้ซื้อก็อยากได้มาก ทีมวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิชาชีพต่างๆ ก็บอกว่าต้องให้ดีมีคุณภาพ ส่วนผู้ให้บริการก็ต้องทำตามทั้ง 2 อย่างคือเยอะด้วยและคุณภาพสูงด้วย แน่นอนว่าถ้าต้องการเยอะและคุณภาพสูง ค่าใช้จ่ายมีมากน้อยอย่างไรถึงจะเหมาะสม ตรงนี้ต้องให้มีสมดุล ไม่เช่นนั้นถ้าต้องการมาก ต้องการดี แต่ถ้าหน่วยบริการไม่สามารถให้บริการได้ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็สะดุด” นพ.มรุต กล่าว

นพ.มรุต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการมีตัวแทนภาคเอกชนเข้ามานั้น หวังว่าจะทำให้มีส่วนที่ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ กทม. เชียงใหม่ นครราชสีมา เนื่องจากโรงพยาบาลของ สธ.เองก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน

และในประเด็นสุดท้ายเรื่องคุณสมบัติเลขาธิการ สปสช. แต่เดิมคัดเลือกครั้งใดก็ต้องปรึกษากฤษฏีกา ดังนั้นคณะกรรมการฯ จึงปรับให้เปิดกว้างมากขึ้น คนจากส่วนอื่นๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย จากองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร หรือบุคลากรภาครัฐ ก็สามารถที่จะสมัครและมีการแข่งขันที่เปิดกว้างมากขึ้น