ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมบัญชีกลางกำหนดหลักเกณฑ์ และซักซ้อมความเข้าใจการเบิกจ่ายค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ (2)  เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และเพื่อให้สถานพยาบาลปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ (2)  มีบางกรณีที่นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปปฏิบัติงานไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และเพื่อให้การเบิกจ่ายค่ายาบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ (2)  มีความชัดเจน ถูกต้อง และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้ยา
อย่างสมเหตุสมผล กรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และซ้อมความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ บัญชียาหลักแห่งชาติ

ซึ่งเป็นรายการยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข ประกอบด้วยบัญชีย่อย 5 บัญชี ได้แก่ บัญชี ก จนถึงบัญชี จ  และในบัญชี จ จะแบ่งเป็น บัญชี จ (1) และบัญชี จ (2)  โดยยาในบัญชี จ (2)  เป็นยาที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย มีความเหมาะสมที่จะใช้เพียงบางข้อบ่งใช้ (บางโรค) เช่น ยา Botulinum A toxin หรือโบท็อกซ์ สำหรับรักษาโรคคอบิด (cervical dystonia) ชนิดไม่ทราบสาเหตุ โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกชนิดไม่ทราบสาเหตุ และโรค spasmodic dysphonia เป็นต้น พร้อมทั้งกำหนดแนวทางกำกับการใช้ยาดังกล่าว เช่น กำหนดคุณสมบัติของสถานพยาบาล คุณสมบัติของแพทย์ผู้ทำการรักษา เกณฑ์การอนุมัติการใช้ยา ขนาดยาที่แนะนำและวิธีการใช้ยา ระยะเวลาในการรักษา การติดตาม และการประเมินผลการรักษา เกณฑ์การหยุดยา ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ (2) ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0416.2/ว 91 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2560  ให้ส่วนราชการ โรงพยาบาล และสถานบริการสาธารณสุขถือปฏิบัติ สรุป ได้ดังนี้  

1.กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ (2) ตามข้อบ่งชี้ที่กำหนดในบัญชียาดังกล่าว แต่ไม่เป็นไปตามแนวทางกำกับการใช้ยา เนื่องจากเหตุที่เป็นข้อจำกัดทางการแพทย์บางประการทำให้ปฏิบัติตามแนวทางกำกับการใช้ยาที่ จ (2) กำหนดไว้ไม่ได้ และผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว แพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องระบุเหตุผลในการกำกับการใช้ยาไว้ในเวชระเบียน เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ  

2.กรณีที่แพทย์สั่งใช้ยาในบัญชีหลักแห่งชาติ บัญชี จ (2)  ซึ่งไม่ตรงตามข้อบ่งชี้ที่กำหนดไว้ในบัญชียาดังกล่าว แต่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ผู้มีสิทธิขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังผ่านส่วนราชการต้นสังกัดระดับกรม เพื่อขออนุมัติการเบิกจ่ายค่ายาเป็นรายกรณี

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานพยาบาลต้องมีกลไกกำกับการสั่งใช้ยาของแพทย์เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และเก็บหลักฐานไว้สำหรับการตรวจสอบ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ชัดเจนและดำเนินการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ที่สำคัญเพื่อให้เกิดการใช้ยาต่าง ๆ อย่างสมเหตุสมผลด้วย