ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นิมิตร์” อดีตบอร์ด สปสช.ภาคประชาชน แจงบทบาท สธ.และ สปสช.ต่างกัน ชี้ สปสช.ทำหน้าที่แทนประชาชนจัดหาบริการสาธารณสุขให้ประชาชนเข้าถึง ภายใต้ข้อจำกัดงบประมาณที่ต้องบริหารคุ้มค่าที่สุด จึงต้องจัดระบบ ต่อรองราคายาและวัคซีนเพื่อให้ได้ราคาลดลงมา ศึกษาโรคไหนประชาชนป่วยมากสุด ต้องการรักษาเร่งด่วน กระจายงบให้ รพ.ให้สมดุลกับจำนวนประชากรในพื้นที่ ส่วน สธ.ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า คนทั่วไปยังคงสับสนว่า เหตุใดยังต้องมีหน่วยงาน เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของพลเมืองทับซ้อนกันในเมื่อมีหน่วยงานใหญ่อย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว

“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า สปสช.นั้นมีบทบาทที่ต่างกันกับ สธ. กล่าวคือ สปสช.จะทำหน้าที่แทนประชาชนเป็นหน่วยที่จัดหาบริการให้กับประชาชนด้วยงบประมาณอันน้อยนิดที่รัฐจัดสรรให้ โดยคิดจากประชากรในพื้นที่ต่างๆ ที่เรียกว่างบรายหัว ภายใต้งบประมาณเหล่านั้น สปสช.ต้องบริการจัดการให้คุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การต่อรองราคายากับบรรษัทข้ามชาติเพื่อให้ได้ราคายาถูก ศึกษาว่าโรคไหนที่ประชาชนเป็นมากที่สุดและต้องการการรักษาเร่งด่วน และโรคไหนที่มีค่าใช้จ่ายระหว่างการรักษาสูงและประชาชนเป็นน้อย ตลอดจนกระจายงบประมาณไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ให้สมดุลกับประชากรในพื้นที่ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าประชาชนจะได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ขณะที่ สธ.ทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข”

นายนิมตร์ กล่าวต่อว่า มากไปกว่านั้นจุดเด่นที่สำคัญของ สปสช. คือ การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ ที่แต่เดิมนั้นผูกขาดอยู่เพียงผู้เชี่ยวชาญอย่างหมอและพยาบาลที่จะคอยบอกว่า อะไรคือคำนิยามของ “สุขภาพดี” โดยประชาชนสวมบทบาทเป็นเพียงคนไข้ที่ต้องเล่นไปตามตำรารักษาโรค ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อประชาชนเข้ามาเป็นผู้เล่นร่วม เรียกคืนอำนาจการนิยามมาไว้ในมือตัวเอง ตั้งแต่สะท้อนคุณภาพผ่านการใช้บริการในสถานพยาบาล ไปจนถึงร่วมกันจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างสุขภาพของคนในชุมชน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณของ สปสช.

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่หลักในการรักษาพยาบาลประชาชน ดูแลเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและจัดการรักษาให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะมีแพทยสภาเป็นหนึ่งในแขนขาคอยตรวจสอบคุณภาพของหมอและพยาบาลในฐานะของสภาวิชาชีพ

สุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องของหมอ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า การเรียกคืนอำนาจการนิยามจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าเรื่องใดย่อมสร้างความสั่นคลอนให้เจ้าของอำนาจเดิมเป็นธรรมดา ไม่ต่างกับเรื่องสุขภาพ ความพยายามยื้อยุดฉุดอำนาจคืนกลับไปสู่กระทรวงสาธารณสุขและเพิ่มบทบาททางวิชาชีพโดยมีชีวิตประชาชนเป็นเดิมพันนั้นมีให้เห็นอยู่เป็นระลอก โดยเฉพาะพุ่งไปที่ช่องโหว่ของระบบหลักประกันสุขภาพที่มีงบประมาณให้โรงพยาบาลไม่พอ ไปจนถึงข่าวที่บิดเบือนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนไปว่ามีเอ็นจีโอเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณของ สปสช.

ในทางกลับกันอาจต้องตั้งคำถามกลับว่า แล้วเอ็นจีโอไม่ใช่ภาคประชาชน? หากพิจารณาอย่างปราศจากอคติแล้วเราจะพบว่า หลายครั้งเอ็นจีโอเป็นข้อต่อให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐ รวบรวมความต้องการและปัญหาของประชาชนผ่านองค์กรภาคประชาชนสะท้อนไปยังผู้กุมอำนาจ สำหรับเรื่องงบประมาณที่ว่ากันว่าเอ็นจีโอมีส่วนได้ส่วนเสียนั้นยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นในรูปของการจัดทำโครงการเพื่อเสนอต่อแหล่งทุน ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นไปตามระเบียบที่ระบุไว้อย่างรัดกุมและเป็นขั้นเป็นตอน

“หากรวบอำนาจกลับคืนไปที่ สธ. คาดการณ์ได้ว่าสิ่งแรกที่จะถูกทำลายคือ กลไกภาคประชาชน ตลอดจนสิทธิในการดูแลและจัดการกับสุขภาพของตนเอง กลับคืนไปสู่การวินิจฉัยของแพทย์ที่มุ่งเพียงรักษาและลดทอนผู้คนให้เหลือเพียงร่างกาย” นายนิมิตร์ กล่าว