ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เดินหน้าแผน “จัดหายาและเวชภัณฑ์ฯ โครงการพิเศษ ปี 60” รวม 8 รายการ ดูแลผู้ป่วยเข้าถึงยาและการรักษาต่อเนื่อง ไม่เกิดผลกระทบ ก่อนปรับปรุงแนวทางจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ปี 61 เพิ่มความโปร่งใส ยอมรับร่วมกัน พร้อมเผยผลดำเนินการ ปี 51-59 ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยา 2.3 แสนคน รัฐประหยัดงบกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท จากการต่อรองราคายา

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบ “แนวทางการบริหารการจัดหาและจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ และอวัยวะเทียม ปี 2560-2561” เพื่อดำเนินการให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและการรักษาอย่างต่อเนื่อง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ภายหลังจากเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเรื่อง “การบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามโครงการพิเศษ” ในปีงบประมาณ 2560 นำเสนอโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นไปตามข้อสรุปการหารือร่วมกับผู้แทนสำนักงานกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในการหารือร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในจัดระบบจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาและการรักษาของผู้ป่วย ที่ประชุมจึงเห็นควรให้ดำเนินการต่อเนื่องตามมติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 แต่ให้ปรับปรุงมติจาก “เห็นชอบรายการยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหาปี 2560 ตามที่เสนอและมอบให้ สปสช.ดำเนินการเสนอ รมว.สาธารณสุข พิจารณาต่อไป” เป็น “เห็นชอบรายการที่จำเป็นตามโครงการพิเศษที่ต้องให้องค์การเภสัชกรรมจัดหาปี 2560 ตามที่เสนอและมอบ สปสช.ดำเนินการเสนอ รมว.สาธารณสุขพิจารณาต่อไป” เป็นการดำเนินการตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นเดิน (สตง.) ได้มีการทักท้วงในเรื่องอำนาจการอนุมัติการจัดหาพัสดุวงเงินที่เกินกว่า 100 ล้านบาทสำหรับยาจำเป็นอื่นที่ไม่ใช่ยาต้านไวรัส เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

สำหรับการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์และอวัยวะเทียม ภายใต้โครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2560 นี้ มีการดำเนินการ 8 รายการ รวมเป็นมูลค่าจัดซื้อกว่า 10,490 ล้านบาท คือ

1. โครงการยาต้านไวรัส มูลค่า 2,122 ล้านบาท

2. โครงการวัคซีน มูลค่า 1,450 ล้านบาท

3. โครงการยารักษาวัณโรค มูลค่า 201 ล้านบาท

4. โครงการบัญชียา จ.2 มูลค่า 1,731 ล้านบาท

5. โครงการยาบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) มูลค่า 75 ล้านบาท

6. โครงการยากำพร้า ยาต้านพิษ มูลค่า 43 ล้านบาท

7. โครงการล้างไตผ่านหน้าท้อง มูลค่า 4,182 ล้านบาท

8. โครงการอุปกรณ์อวัยวะเทียม มูลค่า 683 ล้านบาท

“จากข้อมูลการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์และอวัยวะเทียม ภายใต้โครงการพิเศษ ในปี 2551-2559 มีมูลค่าประหยัดงบประมาณจากการต่อรองราคาจำนวน 45,642 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นได้รับยาเพิ่มขึ้น โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสจำนวน 111,100 คน ยาราคาแพงจำนวน 96,882 คน และยาต้านพิษ 19,868 คน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการล้างไตผ่านหน้าท้อง” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า วันนี้บอร์ด สปสช.ยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์และอวัยวะเทียมฯ ในปี 2561 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอการบริหารเวชภัณฑ์ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นการดำเนินการที่เพิ่มความโปร่งใสและยอมรับร่วมกัน รวมถึงการเตรียมการเพื่อเสนอแนวทางซื้อยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์และอวัยวะเทียม ปี 2561 ต่อ ครม.ต่อไป