ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลอำนาจเจริญ สำรวจ Happinometer วัดค่าความสุขของเจ้าหน้าที่ พบเกือบ100% มีปัญหาเรื่องเงิน ผู้อำนวยการฯ ปิ๊งไอเดีย จัดอบรมทำบัญชีครัวเรือน จับตาอีก 6 เดือนประเมินผล เชื่อหากปัญหาคลี่คลาย จะบริการประชาชนดีขึ้น

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำนาจเจริญ กล่าวถึงการประเมินดัชนีความสุข หรือ Happinometer ของบุคลากรในโรงพยาบาลอำนาจเจริญ ตอนหนึ่งว่า การสำรวจ Happinometer เป็นโครงการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดในการตรวจราชการของกระทรวงฯ เพื่อจะดูเรื่องความสุขของบุคลากรในแวดวงสาธารณสุขในทุกระดับ โดยโรงพยาบาลอำนาจเจริญเป็นโรงพยาบาลนำร่องของโครงการนี้

พญ.อัจฉรา กล่าวว่า ได้ทำการสำรวจ Happinometer ในบุคลากรโรงพยาบาลถึง 98.9% ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 900 คน โดยผลการสำรวจพบว่าตัวชี้วัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือประเด็นความตั้งใจในการทำงานและการมีจิตวิญญาณอยู่ในระดับดีมาก แต่ส่วนที่มีปัญหาและทำให้บุคลากรเหล่านี้ไม่ค่อยมีความสุขก็คือเรื่องเงิน เมื่อเจ้าหน้าที่มีเงินน้อยจึงอาจทำให้เขามีความสุขน้อยลง

พญ.อัจฉรา กล่าวว่า เมื่อรับทราบผลการสำรวจแล้วจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นฐานเพื่อพัฒนาให้เจ้าหน้าที่มีความสุขมากขึ้น โดยทางโรงพยาบาลได้ออกแบบและจัดให้มีวิทยากรมาสอนเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน วิธีการออมเงิน วิธีการประหยัดเงิน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจัดอบรมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอีกประมาณ 6 เดือน จะมีการวัดผลว่าหลังจากดำเนินโครงการไปแล้ว เจ้าหน้าที่มีความสุขมากขึ้นหรือไม่

“เจ้าหน้าที่รายได้น้อย เงินเดือนก็ค่อนข้างน้อย งานก็หนัก ความพึงพอใจหรือความสุขตรงนี้จึงไม่มากนัก แต่ความสุขทางด้านความตั้งใจ ความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุดนั้นดีมาก ทุกคนตั้งใจกันหมด” พญ.อัจฉรา กล่าว

พญ.อัจฉรา กล่าวอีกว่า สำหรับหลักสูตรการอบรมต่างๆ ทางโรงพยาบาลได้จัดขึ้นมาเองภายใต้ความรับผิดชองของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลที่มาร่วมกันคิด ช่วยกันหาทางออกว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความสุขเพราะอะไร เพราะมีหนี้สินใช่หรือไม่หรือเพราะรายได้น้อย จากนั้นก็หาทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด ซึ่งก็เห็นตรงกันว่าการทำบัญชีครัวเรือนน่าจะเป็นทางออก เพราะถ้าทุกคนเขียนรายรับรายจ่ายก็จะสามารถกระตุกว่าอย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งนับเป็นการช่วยให้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นด้วย

ผู้อำนวยการ รพ.อำนาจเจริญ กล่าวต่อไปว่า เจ้าหน้าที่เกือบทั้งหมดมาร่วมตอบแบบสอบถาม แต่ก่อนหน้านั้นได้เริ่มจากทีมนำก่อน คือมีสักประมาณ 50-60 คน ที่เข้ามารับการอบรมเรื่องบัญชีครัวเรือน จากนั้นให้กลุ่มคนเหล่านี้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา

“สิ่งที่เราคาดหวังใน 6 เดือนข้างหน้าก็คืออย่างน้อยๆ รายจ่ายต้องลดลง เพราะตัวรายรับน่าจะคงที่อยู่แล้ว เพราะจะเป็นรายรับจากเงินเดือน จากค่าตอบแทน ค่าเวร ค่าโอที ฉะนั้นหากสามารถควบคุมรายจ่ายได้จนพอมีเงินออมหรือไม่เป็นหนี้เป็นสิน ความสำเร็จเหล่านั้นก็จะกลับคืนมาสู่โรงพยาบาล นั่นก็คือถ้าเขาทุกข์เรื่องส่วนตัวก็ไม่มีกะจิตกะใจเต็มที่ในการทำงาน แต่ถ้าความทุกข์เหล่านี้คลี่คลายเราเชื่อว่าการให้บริการประชาชนก็จะดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพราะเขาสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข” พญ.อัจฉรา กล่าว