ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำหนังสือ GREEN BOOK 2017 รายชื่อผลิตภัณฑ์ยาและผู้ผลิตที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์และคัดเลือกว่ามีคุณภาพมาตรฐานมาจัดทำเป็นหนังสือ รวมข้อมูลทั้ง 12 เล่มที่เผยแพร่ไปแล้ว และเพิ่มผลการวิเคราะห์ยาปี 2559 ให้ รพ.ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงจัดซื้อยาตามหลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ใช้คัดเลือกยาคุณภาพในราคาที่เหมาะสมไว้บริการผู้ป่วย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินโครงการประกันคุณภาพยามาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบคุณภาพยาแผนปัจจุบันที่มีใช้ในโรงพยาบาลรัฐทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เน้นตรวจยาที่มีปริมาณการใช้มาก ยามูลค่าสูง ยาที่มีดัชนีการรักษาแคบ ยาช่วยชีวิต ยาชนิดเดียวกันแต่ราคาแตกต่างกันมากระหว่างผู้ผลิต ยาที่มีแนวโน้มไม่คงตัวหรือโรงพยาบาลสงสัยในคุณภาพ นำมาตรวจวิเคราะห์และตัดสินตามเกณฑ์มาตรฐานสากล

สรุปผลดำเนินงานภาพรวมคือ ตรวจวิเคราะห์ไปแล้ว 572 รายการ ในจำนวนนี้เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติคิดเป็นร้อยละ 85 มีจำนวนตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์กว่า 16,000 ตัวอย่าง จาก 5,633 ทะเบียนตำรับยายาที่มีผลการวิเคราะห์เข้ามาตรฐานอย่างน้อย 3 รุ่นผลิตต่อทะเบียนยา หรือหากตรวจมากกว่านั้นต้องไม่พบรุ่นผลิตใดเลยที่ผิดมาตรฐานจะได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยจัดทำเป็น GREEN BOOK คือหนังสือรายชื่อผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต โดยจัดพิมพ์เป็นประจำทุกปีๆ ละ 1 ฉบับ

สำหรับผลวิเคราะห์ยาทั้งหมดของโครงการแต่ละปีทั้งที่ผ่านและผิดมาตรฐานได้รวบรวมเป็นฐานข้อมูลคุณภาพยาระดับประเทศ โดยรายงานผลไว้ในหน้าต่างเตือนภัยสุขภาพของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขได้ทราบ ยาที่ผิดมาตรฐานมีการประสานแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพยาของประเทศในภาพรวมยาที่ใช้ในโรงพยาบาลเกือบทั้งหมดมีคุณภาพดี ปัญหายาผิดมาตรฐานมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และระยะหลังพบว่ายาผิดมาตรฐานในข้อกำหนดที่ไม่ใช่หัวข้อหลักของผลิตภัณฑ์

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 และเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพของยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้จัดทำหนังสือผลิตภัณฑ์ยาคุณภาพและผู้ผลิต ฉบับรวมเล่ม คือ GREEN BOOK 2017 โดยรวบรวมข้อมูลทั้ง 12 เล่มที่เผยแพร่ไปแล้ว และเพิ่มผลการวิเคราะห์ยาปี 2559 เพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงพยาบาลใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงการจัดซื้อยาตามหลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) ใช้คัดเลือกยาคุณภาพในราคาที่เหมาะสมไว้บริการผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้ได้แจกจ่ายหนังสือไปยังโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งแล้ว สำหรับประชาชนผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือที่ www.tumdee.org/alert/ หรือ https:///goo.gl/msEP0h

“นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำแอปพลิเคชัน GREEN BOOK รองรับการใช้งานผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อง่ายต่อการสืบค้นข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2560 และยังมีโครงการขยายขอบข่ายการตรวจวิเคราะห์ยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นยาที่มีมูลค่าสูง ซึ่งที่ดำเนินการไปแล้ว คือ insulin injection, erythropoietin injection โดยดำเนินการปี พ.ศ.2559 ต่อเนื่องปี 2560 เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลมากขึ้น และยิ่งสร้างความมั่นใจในคุณภาพยาให้แก่ผู้สั่งและผู้ใช้ยา” นพ.สุขุม กล่าว