ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จัดซื้อยารวมแทน สปสช.เจอทางตัน สธ.ดำเนินการไม่ได้ จะทำได้ต้องใช้วิธีอ้อมให้ รพ.บางแห่งรับเงินจาก สปสช.แล้วเจรจาต่อรองซื้อส่งให้ รพ.แทน แต่ยังติดปัญหา สตง.แจ้งว่าจะจ่ายเงินให้ รพ.ได้ต้องมีผลงานก่อนแล้วค่อยมาเบิกเงิน

วันที่ 2 สิงหาคม 2560 กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจัดเวทีผ่าทางตันระบบหลักประกันสุขภาพ “ระบบบัตรทองถึงทางตัน จัดซื้อยารวมไม่ได้ แก้กฎหมายยังทัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร” ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เมื่อไม่ให้อำนาจในการจัดซื้อยากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ไม่มีใครมีอำนาจหน้าที่นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ดำเนินการไม่ได้ อีกทั้งการที่หลายคนหวังจะรวมอำนาจการจัดซื้อยาร่วมไปไว้ที่ สธ.ก็ทำไม่ได้ เพราะสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพต้องจ่ายให้โดยตรงกับหน่วยบริการเท่านั้น และในช่วงปีที่ผ่านมาทาง สปสช.ต้องทำเรื่องขอมติจากคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ปีหน้าถึงทางตัน เพราะการจัดซื้อยาร่วมต้องใช้กรรมวิธีซับซ้อน ยุ่งยาก ไม่ตรงไปตรงมา อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย

นายนิมิตร์ ให้ความเห็นว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ.ก็รู้ดีว่าต้องใช้วิธีอ้อมให้โรงพยาบาลบางแห่งรับเงินจาก สปสช.แล้วเจรจาต่อรองจัดซื้อยาส่งให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ โรงพยาบาลใหญ่ที่ต้องรับทำหน้าที่นี้จะมีภาระเพิ่มขึ้น และจะมีบุคลากรพร้อมทำเรื่องนี้ไหม ทำแบบไม่มีเงินทอน ไม่มีเปอร์เซ็นต์ด้วย ที่ร้ายยิ่งกว่าคือ สตง.ยังแจ้งอีกว่า การจ่ายเงินให้โรงพยาบาลนั้น ต้องจ่ายหลังจากมีผลงานแล้วค่อยมาขอเบิกเงิน ซึ่งที่ สปสช.ทำมาในอดีตล้วนผิดหมด ที่โอนเงินล่วงหน้าไปโรงพยาบาลก่อน การซื้อยาก็ต้องซื้อและจ่ายให้เมื่อมีการรักษาก่อนค่อยเบิกเงินได้ ดังนั้น การมอบหมายให้โรงพยาบาลใดจัดซื้อยา ก็ต้องให้โรงพยาบาลนั้นๆ สำรองเงินไปก่อนปีละ 7,000 ล้านบาท แล้วค่อยทวงคืนจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ได้รับยาไป

“สิ่งเดียวที่ผ่าทางตันได้คือ การแก้กฎหมายให้เป็นอำนาจของบอร์ดหลักประกันสุขภาพฯ และดำเนินการโดย สปสช. รัฐมนตรีปิยะสกล จะสั่งการให้คณะกรรมการแก้กฎหมายทบทวนและเพิ่มเติมประเด็นนี้ไหม เพราะทราบมาว่า ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการแก้กฎหมายหลักประกันฯ กำลังจะเรียกประชุมนัดพิเศษในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ซึ่ง รมว.สธ.ยังกลับตัวทัน เพื่อแก้ปัญหาทางตันนี้" นายนิมิตร์กล่าว

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ระบุว่า การที่ สตง.ไม่อนุญาตให้ สปสช.จัดซื้อยา แต่ให้ทางเลือกที่ซับซ้อนได้ทำลายอำนาจการต่อรองราคายา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ที่ประเทศไทยถือเป็นแหล่งศึกษาดูงานและจัดอบรมถ่ายทอดประสบการณ์นี้มาโดยตลอด และเมื่อทำลายกลไกนี้ ผลประโยชน์จะตกกับบรรษัทยาข้ามชาติทันทีอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้านนางอรกัลยา พุ่มพึ่ง ตัวแทนกลุ่มผู้หญิงรักหลักประกันสุขภาพ ชี้แจงว่า การไม่ให้ สปสช.จัดซื้อยาร่วมจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนทันที ตลอดจนมีความวิตกกังวลเรื่องกลุ่มผู้หญิง หรือหญิงวัยรุ่นที่มีความจำเป็นต้องการยา วัคซีน ในระบบอนามัยเจริญพันธุ์ที่อาจมีความจำเป็นต้องจัดซื้อร่วมเพื่อให้ได้ยาที่มีคุณภาพและรับประกันว่ามียาแน่นอนในทุกโรงพยาบาล เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฝังชนิดมีผลข้างเคียงต่ำ เพราะที่ผ่านมาหลายโรงพยาบาลไม่จัดซื้อยาเหล่านี้ไว้เลย โดยอ้างว่าไม่จำเป็นหรือมีราคาแพง

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ผู้แทนผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพมาถึงทางตันแล้ว เพราะการตีความกฎหมายโดยไม่เข้าใจเจตนารมณ์ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ฝากความหวังไว้กับ รมว.สธ. ว่าจะมอบหมายให้กรรมการแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจให้บอร์ดหรือไม่ หรือจะปล่อยให้ สธ.ดำเนินการแบบซับซ้อนและเสี่ยงกับชีวิตผู้ป่วยต่อไป

ขณะที่นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้สร้างระบบการต่อรองราคาการจัดซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีไว้เป็นระบบที่ดีมาก ผู้ติดเชื้อฯ สามารถไปรับยาได้จากโรงพยาบาลทุกแห่ง มีระบบสต๊อกยา ระบบจัดส่งยาที่มีประสิทธิภาพ ถือว่ามีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน

"หากเปลี่ยนไปให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อกันเองเหมือนสมัยก่อนย่อมเกิดปัญหาขาดแคลนยาแน่นอน และเมื่อไม่มีกลไกต่อรอง มีความเป็นไปได้ที่ยาจะราคาแพงขึ้น สุดท้ายก็จะมาบังคับให้ประชาชนร่วมจ่ายใช่หรือไม่ นี่ไม่ใช่แค่ความกังวลของผู้ป่วย แต่ได้ยินเสียงสะท้อนมาจากพี่น้องเภสัชกรในโรงพยาบาลด้วย เพราะเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ทำงานมีส่วนร่วมกับโรงพยาบาลมาตลอด และหวังว่าหมอปิยะสกลจะกล้าผ่าทางตันในครั้งนี้" ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว