ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลุกกระแส “กำนันสไตล์” ใช้คณะกรรมการพัฒนาตำบลเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อน พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเน้นพึ่งตนเอง ด้านศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน ต. เกาะขันธ์ เดินหน้าขับเคลื่อน 12 ตำบลพัฒนา ลงนามความร่วมมือพร้อมประกาศเจตนารมณ์สร้างปฏิบัติการชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ เด็กเยาวชน ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ จัดการสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอาหารชุมชน

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ตอนบน (ศวภ.ใต้ตอนบน) ตำบลเกาะขันธ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ต.เกาะขันธ์ และเครือข่ายตำบลพัฒนา 12 ตำบล

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สู่การจัดการตนเอง” ว่า สสส. โดย สำนัก 3 มีเป้าหมายในการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการตนเองโดยสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการปรับเปลี่ยนและบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อสุขภาวะชุมชน และสนับสุนให้เกิดปฏิบัติการของชุมชน ที่คิดนอกกรอบมากขึ้น มีวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เกิดผลประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการคิดแบบมีส่วนร่วม โดยใช้พื้นที่เป็นเป้าหมาย โดย สสส.ร่วมพัฒนานักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน สร้างคนให้มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา เป็นกำลังสำคัญของสังคม ประเทศชาติ พร้อมกับน้อมนำแนวคิด‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ และแนวคิด‘ระเบิดจากภายใน’ มาเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่สู่ตำบลสุขภาวะควบคู่ไปกับแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องมือในการจัดการตนเอง

นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายตำบลสุขภาวะเป็นการสร้างความเข้าใจยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ (ชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่) โดยมีคณะกรรมการพัฒนาตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อน รวมถึงกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานร่วมกัน มีการเตรียมพร้อมทีมและการบูรณาการงานของโครงการกับภารกิจของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ คือ ท้องถิ่น ท้องที่ (กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน) หน่วยงานรัฐ ภาคประชาชน รวมถึงการออกแบบการทำงานร่วมกันในเครือข่ายแต่ละตำบล ร่วมกับกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของแต่ละศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนบนพื้นฐานทุนและศักยภาพที่ตนเองมี จนนำไปสู่การพัฒนาระบบการจัดการตนเองในพื้นที่

นางเพ็ญศรี ทองบุญชู กำนันตำบลเกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า “บ้านทุ่งใหญ่” เป็นชุมชนมุสลิมที่มีการจัดการตนเอง ผ่านการบริหารจัดการของธนาคารหมู่บ้านอย่างมีส่วนร่วมโดยเริ่มต้นจากแนวคิดที่จะสร้างเสริมการออมของคนในชุมชนผ่านการบริการทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในชุมชน ทำให้เกิดการส่งเสริมกลุ่มอาชีพการทำกล้วยกรอบแก้ว กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ เกิดการสร้างระบบสวัสดิการใช้คนในชุมชน การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการมัสยิดเป็นคนขับเคลื่อนงาน เกิดระบบการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบท่อน้ำเพื่อการเกษตร น้ำประปาหมู่บ้าน น้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งมีกฎกติกาในการใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาวะ เกิดคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจอาชีพเกษตรกรรมแบบปลอดสารพิษ ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของหมู่บ้านหรือตำบลอื่นๆ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่ของตน

นางเพ็ญศรี กล่าวต่อว่า ในครั้งนี้ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนตำบลเกาะขันธ์ อ.ชะอวด และเครือข่ายตำบลพัฒนา 12 ตำบล ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการของพื้นที่ 3 ประเด็นหลัก คือ 1 การลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อาทิ การดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ เด็กและเยาวชน 2 ปัจจัยสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ อาหารชุมชน ส่งเสริมอาหารปลอดภัย การจัดการสิ่งแวดล้อม กองทุน อาชีพเสริม ตลาดนัดชุมชน อาสาสมัคร 3 รูปธรรมการจัดการพื้นที่ อาทิ หมู่บ้านจัดการตนเองอย่างน้อย 1 หมู่บ้านโดยมีการสำรวจทุนศักยภาพของตนเอง พร้อมพัฒนาให้เกิดเป็นหมู่บ้านจัดการตนเองทุกตำบล

ขอบคุณข่าวและภาพจาก สำนักข่าวสร้างสุข