ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.ชี้ ร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ เนื้อหามุ่งเน้นรักษาพยาบาล เมินหนุนงานสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค ซ้ำมีบทลงโทษบุคลากร สธ. ทั้งแพ่งและอาญา กรณีเห็นแย้งไม่ปฏิบัติตามนโยบาย เตรียมเคลื่อนไหวทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมจัดทำร่างกฎหมายคู่ขนานของประชาชน เสนอต่อ สนช. เผยมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายเกิน 1.5 หมื่นคนแล้ว

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประเทศไทย (ผอ.รพ.สต.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ และมีแผนที่จะนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข เพื่อนำเข้า ครม.ภายในเดือนธันวาคม 2560 นี้ ในนามชมรม ผอ.รพ.สต.ไม่ได้คัดค้านนโยบายของ สธ. หรือนโยบายรัฐบาล แต่คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ และเป็นการแสดงความเห็นในฐานะประชาชนตามสิทธิรัฐธรรมนูญต่อการร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในกระบวนการ โดยสาเหตุที่ชมรม ผอ.รพ.สต.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการร่างกฎหมายที่ไม่เข้าใจถึงระบบสาธารณสุขระดับพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเนื้อหากฎหมายได้มุ่งเน้นการมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ช.(5) แต่กลับไม่มีการยกสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญมาตรา 55, 71 และ 74 ที่ระบุถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชน

ทั้งนี้การแพทย์สาธารณสุข ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน และควบคุมโรค ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด 2.การรักษาและฟื้นฟู แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเน้นเฉพาะที่การรักษาและฟื้นฟูเท่านั้น ไม่ได้เน้นที่การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค ทั้งที่เป็นเรื่องที่สำคัญต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่ แม้ว่าภายหลัง สธ.จะเพิ่มเติมมาตรา 55 ในหลักการและเหตุผล แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของกฎหมายยังไม่เข้าถึงการสาธารณสุขอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับภาระงานในปัจจุบันที่ สธ.ได้มอบให้ รพ.สต.จะเน้นที่งานดูแลรักษาพยาบาลและฟื้นฟู ร้อยละ 70 ส่งผลให้ รพ.สต.ที่เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพมีเวลาทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรคน้องลง เหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งหากต้องการให้งานสร้างเสริมสุขภาพมีผลเกิดขึ้นกับประชาชน สธ.ต้องคิดในมุมกลับ โดยเน้นไปที่การสร้างเสริมสุขภาพแทน เพื่อให้เกิดการสร้างนำซ่อมจริงๆ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า งานสร้างนำซ่อมในระบบสาธารณสุขที่ผ่านมาไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งนอกจากร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิแล้ว ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุขก็ไม่มีการพูดถึงวิชาชีพสาธารณสุข ทั้งที่เป็นกลุ่มบุคลากรที่สำคัญในการดำเนินงาน รพ.สต.ทั้งหมออนามัย นักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข เพื่อสร้างสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งชมรม ผอ.รพ.สต.ได้โต้แย้งขอให้ สธ.ปรับเพิ่มในส่วนนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการปรับปรุง ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมาก เพราะเป็นแผนงานหลักของรัฐบาล ที่จะนำมาสู่การสนับสนุนทรัพยากรทั้งคนเงินของให้กับการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ส่งผลให้ทรัพยากรถูกไหลเทไปด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันกำลังบุคลากร รพ.สต.ยังมีจำนวนเท่ากับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีเพียงแค่ 3 คน แต่ต้องดูแลประชาชนนับหมื่นคนในพื้นที่ ทำให้งานสร้างเสริมสุขภาพไม่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าจะมีการปรับอัตรากำลังคนตามขนาด รพ.สต.แล้ว แต่ยังไม่มีการขออัตรากำลังไปที่ ก.พ.และ กพร.

ส่วนการส่งแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปยังพื้นที่ 1 คน ยังต้องมีนักสาธารณสุขเป็นกำลังในการสนับสนุน และเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ ต้องเป็นการกระจายลงไปที่พื้นที่กันดาร ที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ไม่ใช่แค่การกระจายแพทย์ลง รพ.สต.ในเขตเมืองอย่างขณะนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ ที่ผ่านมาชมรม ผอ.รพ.สต. ได้นำเสนอต่อ สธ.มาตลอดถึงปัญหาในเนื้อหาของร่างกฎหมาย และที่เป็นปัญหามากคือมีการระบุถึงบทลงโทษนักสาธารณสุขหรือบุคคลในระบบสาธารณสุขเพื่อไม่ให้มีความเห็นแย้งหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายการแพทย์ปฐมภูมิตามแนวทางของ สธ. โดยให้อำนาจ สธ.ในการเรียกตัวไปสอบสวนและลงโทษได้ ทั้งยังมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญาถึงขั้นจำคุก โดยได้เตรียมที่จะทำหนังสือเพื่อคัดค้างร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิ ต่อนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ยังได้ร่างกฎหมายคู่ขนานที่เป็นของประชาชน ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายเกิน 15,000 รายชื่อแล้ว โดยมีเนื้อหากฎหมายที่ดีกว่า เพื่อนำเสนอในชั้นการพิจารณาสภานิติบัญญาติแห่งชาติ (สนช.) เพราะเกรงว่า สธ.จะเร่งออกกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงรอบด้านที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมา