ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กลุ่มข้าราชการอดีตพนักงานของรัฐ” ขอความเป็นธรรม “คืนสิทธิเกื้อกูลอายุราชการ” หลังถูกตัดสิทธินับอายุราชการช่วงทำงานตำแหน่งพนักงานของรัฐ 1-4 ปี สร้างความเหลื่อมล้ำในระบบ เผยมี ขรก.เข้าชื่อได้รับผลกระทบกว่า 2.6 หมื่นราย พร้อมระบุ พนักงานของรัฐเกิดจากนโยบายจำกัดกำลังคนยกเลิกบรรจุนักเรียนทุน พ้อ มติ ครม.ที่เพิ่งอนุมัติสิทธิเกื้อกูลลืมกลุ่มนี้ มีเพียง พกส.ได้สิทธิ

นางสุรัสวดี เกาฏีระ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแม่สาย จ.เชียงราย ตัวแทนข้าราชการอดีตพนักงานของรัฐในการขอคืนสิทธิเกื้อกูลอายุราชการ เปิดเผยว่า จากนโยบายจำกัดกำลังของของรัฐ ซึ่งจำกัดการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ ส่งผลให้นักเรียนทุนของรัฐบาลตั้งแต่ในปี 2543–2546 ถูกบรรจุในตำแหน่ง “พนักงานของรัฐ” แทนแม้ว่าภายหลังจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำในระบบเกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐไม่ได้รับสิทธิเกื้อกูลอายุราชการ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ได้เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น เพื่อขอให้มีการเยียวยาให้กับพวกเราด้วย เพราะไม่เพียงแต่ความเหลื่อมล้ำเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ทำให้รุ่นน้องแซงหน้ารุ่นพี่ แต่ยังส่งผลต่อการรับบำเหน็จบำนาญในกรณีออกจากราชการ

อย่างในกรณีของตนเองนั้น ได้สอบติดวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี พะเยา ในปี 2539 โดยได้รับทุนจากรัฐบาล ซึ่งมีเงื่อนไขภายหลังเรียนจบจะได้ทำงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีสัญญาใช้ทุน 1 ปี แต่ภายหลังเรียนจบในปี 2543 ปรากฎว่าได้นโยบายไม่รับเข้าบรรจุเป็นข้าราชการ และให้บรรจุทำสัญญาใช้ทุนเป็นพนักงานของรัฐแทน แม้ว่าจะมีเงินเดือนในอัตราเดียวกับข้าราชการ แต่ไม่ได้รับสวัสดิการเหมือนข้าราชการ ซึ่งขณะนั้นพวกเราส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ทำสัญญานี้ไม่ได้ เพราะหากไม่ทำงานใช้ทุนจะต้องจ่ายชดเชยใช้ทุนให้รัฐบาลแทนเป็นเงิน 160,000 บาท ในฐานะเด็กจบใหม่ไม่มีเงินขนาดนั้น จึงเป็นเหมือนบังคับให้เราต้องทำสัญญาเป็นพนักงานของรัฐ

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2547 จึงได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาต่างเข้าใจว่า ในส่วนอายุราชการให้เป็นการนับต่อเนื่องจากพนักงานของรัฐ ดังนั้นในการกรอกรายละเอียดข้อมูลต่างๆ โดยในส่วนอายุอายุราชการก็จะรวมอายุงานช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐมาตลอด แต่มาทราบภายหลังว่าในช่วงที่ทำงานเป็นพนักงานของรัฐ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่ได้นับรวมในอายุราชการด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ แต่มีทั้งวิชาขีพเภสัชกรที่ได้รับผลกระทบต่อกรณีนี้ รวมถึงรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีผู้บริหารและหน่วยงานใดรับทราบว่ายังมีกลุ่มพนักงานของรัฐที่มีปัญหานี้อยู่ จึงขอความเป็นธรรมในการคืนสิทธิ์เกื้อกูลในช่วงเป็นพนักงานของรัฐให้กับพวกเรา

“เราไม่ได้เรียกร้องอะไร เพียงขอสิทธิเกื้อกูลอายุราชการที่หายไปในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐกลับคืน มีตั้งแต่ 1-4 ปี โดยอายุราชการของตัวเองที่หายไปคือ 4 ปี เป็นจำนวนปีที่มากที่สุดเพราะได้เป็นพนักงานของรัฐในปีแรกที่มีนโยบายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อายุราขการที่ควรได้รับถูกตัดหายไป เกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างผู้ปฏิบัติงาน เช่น สิทธิการรับบำเหน็จกำหนดอายุราชการที่ 25 ปี ซึ่งหากไม่นับอายุราชการช่วงเป็นพนักงานของรัฐทั้งที่ทำงานในโรงพยาบาลมาตลอด จะต้องทำงานต่อไปอีก 4 ปี จึงรับสิทธิบำเหน็จนี้ได้ ทั้งการเป็นพนักงานของรัฐก็เกิดจากนโยบายรัฐเอง ที่ยกเลิกเงื่อนไขการบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้นักเรียนทุน ทำให้เกิดผลกระทบนี้ขึ้น” ตัวแทนข้าราชการอดีตพนักงานของรัฐ กล่าว

นางสุรัสวดี กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ได้เข้าพบ นพ.โสภณ เราได้ทำการรวบรวมรายชื่อข้าราชการอดีตพนักงานของรัฐที่ได้รับผลกระทบ มีจำนวน 26,549 คน พร้อมกันนี้ยังได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ.เพื่อให้พิจารณาการคืนสิทธิเกื้อกูลนี้ ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับการขอคืนสิทธิเกื้อกูลของกลุ่มข้าราชการอดีตพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ ครม.ได้เห็นชอบก่อนหน้านี้ โดยส่วนตัวทางกลุ่มก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่นับกลุ่มข้าราชการอดีตพนักงานของรัฐรวมเข้าไปด้วยในมติ ครม.ครั้งนั้น หลังจากนี้จะมีการติดตามความคืบหน้าต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง