ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้เชี่ยวชาญเตือน สถานการณ์แบคทีเรียซึ่งมียีนดื้อยาปฏิชีวนะอาจรุนแรงถึงขั้นที่แพทย์ไม่อาจให้การรักษาผู้ป่วยได้อีกต่อไป

การสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะมากเกินไปเป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุหลายประการที่กระตุ้นการระบาดของเชื้อโรคดื้อยา ภาพ: อลามีสต็อกโฟโต

theguardian.com โดย Robin McKie รายงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค.60 ถึงหายนะเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาที่อาจไม่มียาปฏิชีวนะตัวใดที่สามารถรักษาได้

สมาคมจุลชีววิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society for Microbiology) เผยข้อมูลน่าตระหนกว่าแบคทีเรียซึ่งมียีนเอ็มซีอาร์-1 (mcr-1) ซึ่งทำให้เกิดการดื้อต่อยาโคลิสติน (colistin) ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกในอัตราเร็วอย่างน่าตกใจนับตั้งแต่ค้นพบครั้งแรกเมื่อ 18 เดือนก่อน นอกจากนี้ยังพบอัตราการติดเชื้อดังกล่าวที่สูงถึงร้อยละ 25 จากผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลในภูมิภาคหนึ่งของประเทศจีน

ยา colistin ถือเป็น “ยาปฏิชีวนะปราการด่านสุดท้าย” ซึ่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกมีรายงานการใช้ colistin เพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะตัวอื่น แต่ล่าสุดพบว่าปัญหาการดื้อยา colistin เริ่มระบาดไปทั่วโลกแล้ว

ด้าน ศ.แซลลี เดวีส์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาสาธารณสุขอังกฤษเผยว่า “โลกกำลังเผชิญกับสนธยากาลของยาปฏิชีวนะ” และเตือนว่า หากยังไม่มีมาตรการยับยั้งเวชปฏิบัติที่ส่งเสริมการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาและการพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ก็จะทำให้โลกหวนกลับไปสู่ยุคที่การผ่าตัดทั่วไปหรือแม้กระทั่งการเกิดบาดแผลหรือติดเชื้อก็ถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงถึงชีวิต

แนวโน้มน่าสะพรึงกลัวดังกล่าวเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนีซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอังกฤษ กองทุนเวลคัมทรัสต์ (Wellcome Trust) สหประชาชาติ และอีกหลายประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อระดมนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เภสัชกรอาวุโส และนักการเมืองมาร่วมวางมาตรการยับยั้งการระบาดของเชื้อโรคดื้อยาซึ่งกำลังเป็นอุปสรรคใหญ่ของการรักษาโรคติดเชื้อ

สถานการณ์โรคติดเชื้อมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก ปัจจุบันคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาราวปีละ 700,000 คนทว่าตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งและคาดว่าอาจพุ่งขึ้นถึงระดับ 10 ล้านคนต่อปีภายในปี 2593

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าภัยจากเชื้อโรคดื้อยานั้นถือเป็นหนึ่งในหายนะครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเผชิญ เมื่อเชื้อโรคดื้อยาครองโลกได้สำเร็จก็จะส่งผลให้การรักษาพยาบาลหลายด้านไม่สามารถทำได้อีกต่อไป โดยเฉพาะการปลูกถ่ายอวัยวะซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิต้านทานระหว่างผ่าตัดเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะใหม่ซึ่งทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อได้ง่าย หรือกระทั่งการผ่าตัดไส้ติ่งซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับยาปฏิชีวนะก็จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบหรือการติดเชื้ออื่น โดยประเมินว่าผลกระทบจากเชื้อดื้อยาจะทำให้สถานการณ์ย้อนกลับไปสู่เมื่อครั้งที่อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิงเพิ่งค้นพบยา penicillin เมื่อปี 2471

“การผ่าตัดทั่วไป เปลี่ยนข้อเทียม ผ่าคลอด และเคมีบำบัดซึ่งต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะก็อยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงเหมือนกันครับ” โจนาธาน เพียร์ซ หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันแห่งสภาวิจัยด้านการแพทย์อังกฤษเผย “การติดเชื้อทั่วไปก็อาจฆ่าคนได้ล่ะครับ”

นักวิทยาศาสตร์ชี้สาเหตุการระบาดของเชื้อโรคดื้อยาไปที่การใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่เหมาะสมและใช้มากเกินไป รวมถึงความล้มเหลวของบริษัทยาในการคิดค้นและพัฒนายาใหม่ ปัจจุบันแพทย์ฝั่งตะวันตกกำลังจ่ายยาปฏิชีวนะให้กับผู้ป่วยโดยไม่คำนึงถึงตัวโรค ขณะเดียวกันเกษตรในหลายประเทศใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งโตและอัดยาให้ปศุสัตว์อย่างไม่ยั้งมือจนเป็นสาเหตุให้เกิดการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในแหล่งน้ำโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย

“ระดับยาปฏิชีวนะในแม่น้ำคงคาในช่วงแสวงบุญนั้นสูงไม่ต่างจากระดับเป้าหมายของยาในกระแสเลือดเลย” ศ.เดวีส์ เผย “เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากค่ะ”

แหล่งน้ำและตลิ่งที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดเชื้อโรคดื้อยา เชื้อโรคสายพันธ์พบยากที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะมักพบในปศุสัตว์ซึ่งเลี้ยงในสภาพแวดล้อมดังกล่าว ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นเชื้อก่อโรครุนแรงและระบาดไปทั่วโลกด้วยอัตราเร็วอย่างน่าสะพรึงกลัว ตัวอย่างของเชื้อกลุ่มนี้รวมถึงวัณโรคซึ่งครั้งหนึ่งเคยรักษาได้ง่ายแต่เมื่อกลายพันธ์จนเกิดดื้อยาหลายชนิดก็เป็นสาเหตุคร่าชีวิตราวปีละ 190,000 คน

ยา colistin ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เริ่มเห็นผลกระทบจากเชื้อโรคดื้อยา “ยา colistin พัฒนาขึ้นในช่วงคริสตทศวรรษที่ 50 ครับ” แมทธิว อวิสัน นักวิจัยของมหาวิทยาลัยบริสตอลกล่าว “แพทย์ไม่นิยมใช้เพราะยามีผลข้างเคียงเลยทำให้มักใช้กันในวงการสัตวแพทย์แทน แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะก็ทำให้แพทย์หันกลับมาหา colistin เพราะคิดว่ายังดีกว่าไม่มียาอะไรให้ใช้”

“การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นสารเร่งโตในสัตว์ปีกและสุกรในแถบเอเชียกำลังกระตุ้นให้เกิดเชื้อดื้อยาและระบาดมาสู่คน “colistin เคยเป็นยาที่ทิ้งไปและใช้เฉพาะในสัตว์เท่านั้น มาตอนนี้เรากลับจะเอา colistin มาใช้อีกครั้ง” อวิสันกล่าว “แต่สายไปแล้วครับ ยักษ์ออกมาจากตะเกียงเสียแล้ว”

ด้าน แลนซ์ ไพรซ์ นักวิจัยยาปฏิชีวนะประจำมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันของสหรัฐอเมริกาเผยว่า “เชื้อดื้อยานับวันยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเพราะเรายังคงไม่หยุดการกระทำที่ทำให้ยาด้อยคุณค่า ทั้งด้วยการใช้ยามากเกินไปในคนและการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นวัตถุดิบราคาถูกในปศุสัตว์”

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มประกาศมาตรการห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ (รวมถึง colistin) ในภาคเกษตรกรรม ทว่าลอร์ดจิม โอนีล หัวหน้าคณะวิจัยซึ่งจัดทำรายงานสถานการณ์เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะต่อรัฐบาลอังกฤษชี้ว่ามาตรการดังกล่าวมาสายเกินไป “ข้อมูลชี้ว่าปัญหาการดื้อยา colistin ได้ระบาดไปทั่วแล้วครับ”

รายงานโดยลอร์ดโอนีลและคณะได้เสนอมาตรการหลายข้อสำหรับหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ขณะเดียวก็เรียกร้องให้บริษัทยาเร่งรัดพัฒนายาปฏิชีวนะตัวใหม่ รวมถึงปรับปรุงแนวทางการสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเฉพาะในผู้ป่วยที่พิสูจน์แล้วว่าจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ

“ไม่น่าเชื่อที่แพทย์ยังคงสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะโดยพิจารณาเฉพาะอาการของผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งไม่ต่างกันเลยกับตอนที่ยาปฏิชีวนะเริ่มใช้กันแพร่หลายเมื่อคริสตทศวรรษที่ 50” ลอร์ดโอนีลระบุในรายงาน พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้พัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยทราบผลเร็วซึ่งจะช่วยในการระบุผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะและชนิดยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมโดยเร่งด่วนที่สุด

แม้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้นแต่ ศ.อลาสแตร์ เฮย์จากมหาวิทยาลัยบริสตอลแย้งว่า “ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องดีมาก แต่ต้องไม่ลืมว่าเครื่องมือตรวจวินิจฉัยใหม่จะยิ่งเพิ่มภาระงานซึ่งปัจจุบันก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว”

ศ.เดวีส์ ยังชี้ด้วยว่าการเดินทางเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สุดที่กระตุ้นการระบาดของเชื้อโรคดื้อยา “การศึกษาวิจัยในสวีเดนจากนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็คอายุน้อยที่ออกท่องเที่ยวในหลายภูมิภาคของโลกชี้ว่าไม่มีนักท่องเที่ยวแม้แต่รายเดียวที่มีแบคทีเรียดื้อยาในลำไส้ขณะเดินทางออกจากสวีเดน แต่เมื่อเดินทางกลับมาแล้วพบว่านักท่องเที่ยวราว 1 ใน 4 ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยากลับมาด้วย และสะท้อนว่าเชื้อดื้อยาสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายเพียงใด”

การท่องเที่ยว สุขอนามัยส่วนบุคคล การเกษตร และเวชปฏิบัติล้วนได้รับผลกระทบจากเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะและจำเป็นที่จะต้องร่วมกันหาแนวทางรับมือกับวิกฤตินี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด

“เอาเข้าจริงแล้วปัญหาเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามระดับโลกก็ใช่ว่าจะแก้ไขยากครับ” ลอร์ดโอนีล กล่าว “สิ่งที่เราต้องทำคือเปลี่ยนวิถีปฏิบัติของผู้คนเสียใหม่ แต่จะด้วยวิธีการใดนั้นก็ยังไม่ชัดเจนนัก”

แปลและเรียบเรียงจาก Antibiotic apocalypse’: doctors sound alarm over drug resistance โดย Robin McKie www.theguardian.com