ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ร่อนหนังสือถึงผู้ผลิตและร้านยาแผนปัจจุบันสำรองยารักษามาลาเรียและยาปฏิชีวนะ 6 เดือนเพื่อใช้ในประเทศ หลังมีข่าวทางโซเชียลมีเดียว่าช่วยรักษาโควิด-19 จนประชาชนมาซื้อยาจำนวนมากแถมยังพบพฤติกรรมกักตุนยาอีกต่างหาก

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1009.6/4827 ลงนามโดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ถึงผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำสั่งยาแผนปัจจุบัน เรื่อง ขอความร่วมมือสำรองยารักษามาลาเรียเพื่อสงวนใช้ในประเทศและลดการจำหน่ายยารักษามาลาเรียและยาต้านจุลชีพบางรายการไปยังร้านขายยาและสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยขณะนี้มีการเสนอข่าวการศึกษาวิจัยทางสื่อโซเชียลมีเดียที่มีผลชักจูงให้ประชาชนรวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการใช้ยาต้านจุลชีพ ได้แก่ ยารักษามาลาเรีย (คลอโรควินหรือไฮดรอกซีคลอโรควิน) ร่วมกับยาปฏิชีวนะ (อะซิโทรมัยซินหรือเลโวฟลอกซาซิน) มีประสิทธิภาพดีในการรักษาหรือป้องกันโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งมาขอซื้อยาดังกล่าวจำนวนมาก รวมทั้งเริ่มมีพฤติกรรมกว้านซื้อยาเพื่อกักตุน ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่าการศึกษาดังกล่าวยังมีข้อจำกัดเชิงวิชาการหลายประการ และยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงหรือได้รับการยอมรับว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยในการรักษาหรือเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาผู้ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวยังส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชนหลายประการ ดังนี้

1.ยาคลอโรควินและไฮดรอกซีคลอโรควิน เป็นยาขนานหนึ่งที่แพทย์ใช้ร่วมกับยาขนานอื่นๆในการรักษาโรคโควิด-19 ตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ และใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น หากมีการกักตุนยา หรือซื้อยามากเกินจำเป็น จะทำให้เกิดการขาดแคลนยาสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาในโรงพยาบาล

2.เมื่อประชาชนที่มีอาการเข้าข่ายผู้ต้องสงสัยเป็นโรคโควิด-19 ซื้อยาปฏิชีวนะมารักษาตนเอง จะทำให้ชะลอการเข้าถึงการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ อีกทั้งสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังบุคคลอื่นได้อีกเรื่อยๆ ในทางกลับกัน ถ้าผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายและรีบไปพบแพทย์ในทันที จะได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำและได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที

3.หากผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะก่อนที่จะเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อเชื้อไวรัสลงปอดและมีอาการรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ปอด เชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นอาจดื้อยา ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

4.ประชาชนที่ใช้ยาดังกล่าวมีภาวะเสี่ยงต่อผลข้างเคียงร้ายแรงหลายประการโดยไม่ได้ประโยชน์จากยา เช่น คลอโรควินอาจทำให้จอตาถูกทำลายทำให้สูญเสียการมองเห็น ไขกระดูกถูกกดทำให้โลหิตจาง เลือดออกง่าย ภูมิต้านทานต่ำ หรือทำให้หัวใจเสียจังหวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับอะซิโทรมัยซินหรือเลโวฟลอกซาซิน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันจากหัวใจเสียจังหวะ เป็นต้น

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาพิจารณาแล้วเห็นควรขอความร่วมมือ ดังนี้

1.สำรองยาคลอโรควินหรือไฮดรอกซีคลอโรควินเพื่อสงวนใช้ในประเทศอย่างเพียงพอและป้องกันการขาดแคลนยาสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาตามข้อบ่งชี้ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

2. ลดการจำหน่ายยาคลอโรควิน ไฮดรอกซีคลอโรควิน อะซิโทรมัยซิน เลโวฟลอกซาซิน ให้แก่ร้านยาและสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน และเพื่อสงวนยาดังกล่าวไว้ใช้ในโรงพยาบาล และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรค รวมถึงป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ปอดที่เป็นแบคทีเรียดื้อยา

จึงเรียนมาเพื่อโปรดให้ความร่วมมือปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นด้วย จะเป็นพระคุณ