ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เผยมีการเฝ้าระวังปัญหายาปลอมอย่างเข้มงวด พร้อมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกวาดล้างขบวนการค้ายาปลอม ปัจจุบันปัญหายาปลอมพัฒนารูปแบบการซื้อขายและการกระจายตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น โฆษณาขายตามเว็บไซต์ หรือผ่านทางพัสดุไปรษณีย์

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกัน ปราบปราม และต่อสู้กับปัญหายาปลอมมาโดยตลอด เนื่องจากอาจเกิดผลเสียต่อร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค และอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาของผู้ป่วย ซึ่งปัญหายาปลอมที่มีการตรวจพบบ่อยครั้ง คือ ยาที่ผลิตไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน มีปริมาณตัวยาสำคัญมากหรือน้อยกว่าร้อยละ 20 ของเกณฑ์ที่กำหนด ยาที่มีการปลอมปนสารอื่น และยาที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งสถานที่ผลิตยาซึ่งมิใช่ความจริง โดยผู้ผลิตยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท ผู้ขายหรือผู้นำเข้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท

รองเลขาธิการ อย. กล่าวต่อว่า ปัจจุบันปัญหายาปลอมมีการพัฒนารูปแบบของการซื้อขายและการกระจายตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ ในส่วนของ อย. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกรมศุลกากร ในการสืบสวน ตรวจสอบ จับกุม ยึดและอายัดผลิตภัณฑ์ยาปลอมรวมถึงร่วมกับบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการวางแผนดำเนินการและยืนยันการกระทำผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีความร่วมมือในระดับนานาชาติกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น องค์กรตำรวจสากล (Interpol) องค์การอนามัยโลก กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ในการเข้าร่วมประชุม เพื่อสร้างเครือข่ายในการตรวจสอบเฝ้าระวังเกี่ยวกับปัญหายาปลอมและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบการแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน

​​​​​​​ทั้งนี้ หากประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะเป็นยาปลอม ขอให้แจ้งมาที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11000 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ Line @Fdathai หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ