ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เนื่องจากวันที่ 4 ตุลาคม 2560ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาหัวข้อเรื่อง กฎหมายนิวเคลียร์ : ผลกระทบและการบังคับใช้ ซึ่ง สนช.ได้เชิญตัวแทนจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมอภิปรายและมีตัวแทนกลุ่มทันตแพทย์ที่ได้รับผลกระทบได้เข้าร่วมเสนอความเห็นในการสัมมนาครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

หลังการอภิปราย มีการแสดงความเห็นติดตามมาหลากหลายมุมมอง บางความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้นำลงเผยแพร่ใน Facebook ที่ใช้ประชาสัมพันธ์งานของหน่วยงานแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งบางส่วนก็มีการให้คำแนะนำ ข้อห่วงใยที่ดี แต่ก็มีบางประเด็นที่อ่านแล้วก็อยากจะชี้แจง เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลที่กว้างและถูกต้องมากขึ้น

หากย้อนกลับไป ตั้งแต่มีปัญหาเรื่องการเรียกร้องให้ลดผลกระทบของ พ.ร.บ.นิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ต่องานรักษาด้านทันตกรรม มีการชี้แจงของหลายๆ ฝ่ายที่รับฟังแล้ว ทำให้เกิดความกังวล ที่ดูเหมือนจะวาดภาพเครื่องเอกซเรย์ฟันให้ดูน่ากลัวเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการรักษาด้านทันตกรรมเลย

เพราะในความเป็นจริง เครื่องเอกซ์เรย์ฟันเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการ วินิจฉัยโรค และในหลักการของการรักษาอาการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะรักษากับแพทย์สาขาใด เป้าหมายสูงสุดคือ การให้ผลการรักษาดีที่สุด คนไข้หายจากโรคเร็วที่สุด ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และคงไม่มีแพทย์ท่านไหนที่อยากจะรักษาคนไข้นานๆ หากไม่ใช่ความจำเป็นจากรอยโรคหรือสภาพความเจ็บป่วย!

ดังนั้นโดยปกติแล้วอย่างที่ไม่ต้องสงสัยเลย อะไรที่หากคิดว่าจะมีความเสี่ยงกับคนไข้แล้ว แพทย์จะไม่เลือกหนทางนั้น ยกเว้นหากมีความจำเป็นทางเทคนิคซึ่งก็ต้องมีการอธิบายคนไข้ให้รับทราบก่อน ซึ่งถือเป็นแนวทางปฏิบัติปกติที่ดีอยู่แล้ว

ในส่วนทันตแพทย์ก็เช่นกันการที่จะใช้เครื่องเอกซเรย์ฟัน ทั้งโดยหลักการ เทคนิคการใช้งานย่อมมีความปลอดภัยสูงสุดอยู่แล้วโดยเฉพาะตัวทันตแพทย์ ผู้ช่วยก็ทำงานรักษาในคลินิกแทบจะตลอดเวลาดังนั้น หากเครื่องมือใดๆ ที่จะมีอันตราย "คงไม่ใช่วิสัยของทันตแพทย์ที่จะใช้หรือเก็บไว้"

อีกทั้ง ผมอยากชี้แจงว่า "เครื่องเอกซเรย์ฟันเอง ถือว่ามีความปลอดภัยสูงสุด!! ไม่เคยสร้างประวัติความเจ็บป่วยใดๆ อันตรายใดๆ กับใครเลย หรือจะมีอุบัติเหตุร้ายแรงอะไรเป็น ประจักษ์" ขอย้ำครับว่า "เป็นประจักษ์" คำนี้บอกความหมายในตัวเอง

ดังนั้นในฐานะแพทย์สาขาหนึ่ง ด้านหนึ่งจึงไม่อยากเห็นใครมาสร้างภาพที่น่ากลัวเกินจริงโดยเฉพาะกับคนไข้หรือประชาชนที่ต้องเข้ารับการรักษาเพราะมีแต่จะสร้างความกังวล ความทุกข์เกินความจริงที่คนไข้ประสบปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว

การที่มีหลายฝ่ายพยายามให้ข่าวสาร ขณะเดียวกันก็อาจสร้างความเข้าใจผิดๆ หรืออาจจะเข้าใจผิดจริงๆ เกี่ยวกับ เอกซเรย์ฟัน เช่น เอาไปเทียบเคียงกับเรื่องของกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นคนละเรื่อง เหมือนเราพูดว่า ปลอดภัยที่สุดกับอันตรายที่สุดเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งแท้จริงเป็นคนละเรื่องอย่างสุดขั้ว

หรือยังมีคนเข้าใจและยังพูดถึงคำว่า RSO (Radiation Safety Officer) ในคลินิกทันตกรรม ที่หน่วยงานบังคับกฎหมายฉบับนี้ บอกให้ต้องมีเฝ้า และต้องมีอยู่ตลอดเวลาเปิดทำการ บางคนก็บอกง่ายๆ ว่า "มีไว้ดีกว่าไม่มี" หรือ "มีไว้จะทำให้มาตรฐานคลินิกน่าเชื่อถือมากขึ้น" ด้วยความเป็นห่วงความเข้าใจที่แสดงถึงความไม่เข้าใจจริงๆ

ปีกว่าๆแล้วที่คำนี้ วนเวียนอยูกับปัญหานี้ มีคำถามมากมายว่า RSO ที่จะให้มี จะมาเฝ้าอะไร ?

จะให้มานั่งเฝ้าเครื่องเอกซเรย์ที่ไม่ได้ใช้ หรืออาจจะใช้เพียง 1-2-3 หรือ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ (ซึ่งหมอเป็นผู้ควบคุมการเอกซเรย์อยู่แล้ว) สำหรับคลินิกหลายๆ แห่ง และถามว่าจำเป็นต้องเฝ้าหรือ (เครื่องเอกซเรย์ฟันไม่ต่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถอดปลั๊ก เช่นเตารีด พัดลม เมื่อไม่มีกระแสไฟฟ้าเข้า)

และถามอีกว่า RSO จะมาช่วยอะไรในคลินิกทันตกรรมบ้าง RSO ที่ว่ามีทักษะในการปฏิบัติงานในคลินิกทันตกรรมหรือไม่ เพราะนอกจากเฝ้าแล้ว ก็เหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไร เคยได้ยินคนตอบแบบงงๆ ว่ามาวัดรังสีตรงนั้น ตรงนี้ ตอนหมอเอกซเรย์ น่าตกใจที่ได้ยินคำตอบแบบนั้น เพราะจริงๆ เครื่องหรืออุปกรณ์เหล่านี้ควรมีรอบการตรวจ 3-5 ปีต่อครั้ง "ไม่ใช่มานั่งวัดทุกครั้งที่ใช้เครื่องเอกซเรย์ หรือมานั่งวัดตรงมุมนั้นมุมนี้ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดทางวิชาการและการปฏิบัติงานอย่างไม่ควรมี"

และถามว่าถ้าเราคิดเช่นนี้ เราจะผลิตบุคลากรมาเพื่อเฝ้าเครื่องเอกซเรย์จริงๆ หรือ และสิ่งเหล่านี้ หากเข้ามากระทบต่อขั้นตอน การเตรียม การดำเนินการรักษาจริง มาตรฐานการรักษาจะตกลงไปอยู่ตรงไหน

ภาระที่ไม่ควรเป็นภาระของคลินิกทันตกรรมจะต้องหาเงินให้พอ (จากใคร) เพื่อมาจ้างคนเฝ้าเครื่อง โดยสุดท้ายก็ต้องเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรเกิดจากคนไข้มากขึ้นใช่หรือไม่ ซึ่งหากจะต้องมีคนเฝ้าเครื่องเอกซเรย์จริงๆ ค่าพนักงานเฝ้าเครื่องก็คงแพงเป็นประวัติการเป็นประวัติศาสตร์สำหรับทั้งวงการทันตแพทย์และวงการแพทย์

หากเป็นเรื่องความปลอดภัยสูงสุดอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ระเบิดนิวเคลียร์ (ซึ่งประเทศไทยไม่มี...และคงไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างน้อย 15-20 ปีด้วยเทคโนโลยีตอนนี้) ทุกคนคงยินดีครับ แต่เรื่องเฝ้าเครื่องเอกซเรย์เช่นนี้ ใช่สาระรึเปล่า

ในขณะที่ ทันตแพทย์จะตัดสินใจใช้เอกซเรย์ก็ต่อเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็น คลินิกหลายแห่งทั้งเดือนเอกซเรย์ฟันอยู่ไม่กี่ฟิล์ม ปัจจุบันค่าเอกซเรย์หนึ่งฟิล์มก็อยู่ประมาณ 150-200 บาทซึ่งถือว่าถูกมากสำหรับคนไข้ เมื่อเทียบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของหมอ แต่ที่หมอต้องมีไว้เพราะหากต้องใช้ จะช่วยวินิจฉัย รักษาได้ดีขึ้นและสะดวกต่อตัวคนไข้เอง

ถึงตอนนี้ ปัญหาความไม่เหมาะสมหลายๆ ประการ เชื่อว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลบังคับกฎหมายอย่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ก็คงรับทราบ แต่ก็ยังมีท่าทีที่จะหาทางที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายนี้ให้ได้ เช่นโดยการบอกว่า ให้ทันตแพทย์สามารถสอบเองได้ "สรุปเพิ่มทางเลือกง่ายๆ ว่าเป็นทันตแพทย์ เป็นแพทย์แล้วต้องเป็น RSO ด้วย"

ทั้งที่ พ.ร.บ.นิวเคลียร์เองก็ไม่มีเขียนไว้และเชื่อว่าหากจะเขียนไว้ก็คงถูกโต้แย้งตั้งแต่ขั้นตอนการร่างกฎหมาย ยังไม่รวมที่ตัวแทนวิชาชีพทันตแพทย์อย่างทันตแพทยสภาก็มิได้มีโอกาสมาแสดงความคิดเห็นข้อดี-เสียของกฎหมายนี้ในขั้นตอนการร่างแต่แรก

หรือแม้แต่ ผู้พิจารณากฎหมายอย่าง สนช. ก็ยังมีการให้ข่าวว่า "ไม่มีใครทราบว่าจะมีการให้อำนาจ ปส.มาควบคุมเครื่องเอกซเรย์ตามคลินิก รวมไปถึงการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) (17 มี.ค.60 hfocus) และทันตแพทย์เองก็สามารถทำงานตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537ซึ่งคุ้มครองอยู่แล้ว

ก่อนนี้ในส่วนทันตแพทย์ได้ชี้แจงทางกฎหมายต่อหน่วยงานว่า ทันตแพทย์ก็มีศักดิ์และสิทธิตามกฎหมาย และมีทั้งทักษะและฝึกฝนผ่านการเรียนมาแล้ว และเป็นผู้ชำนาญในการทำงานเอกซเรย์ทันตกรรม ทำไมจะต้องไปสอบกับ ปส.ที่ไม่เคยมีประวัติหรือประสบการณ์จริงในการรักษาด้านทันตรรมแก่ประชาชนเลย

หน่วยงานก็เปลี่ยนแจ้งใหม่อีกครั้ง คราวนี้ ไม่ต้องสอบ บอกว่าเป็นโดยอัตโนมัติแต่ต้องไปขึ้นทะเบียน จ่ายค่าธรรมเนียมและต่ออายุใบอนุญาตทุก 3 ปี ถามต่ออีกว่าทำไม

ปัญหาเหล่านี้ คือ ตัวอย่างใช่หรือไม่ ที่ปัญหาที่เกิดจากการที่หน่วยงานมุ่งแต่ที่จะใช้กฎหมายนิวเคลียร์เพื่อสันติ ฉบับนี้ซึ่งเนื้อหามุ่งเน้นเพื่อดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ จะมาควบคุมเอกซเรย์ฟันซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ให้ได้ จึงเกิดความไม่เหมาะสมมากมาย เกิดผลกระทบวงกว้าง

หากหน่วยงานมีแต่ความมุ่งหมายโดยไม่มองความแตกต่างอย่างสุดขั้วของประเภทวัสดุที่จะควบคุม แต่จะเหมารวมให้ได้โดยไม่รับฟังเสียงของกลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ที่ออกมาแจง ผลกระทบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งข้อเรียกร้องหลักๆ คือ "ขอให้ยกเว้นการบังคับ เอกซเรย์ทันตกรรมจาก พระราชบัญญัตินิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559" อันเนื่องจากยังมีปัญหาทั้งหลายที่กล่าวมาและยังที่ไม่ได้กล่าวอีกมาก

ผมมีโอกาสได้ชี้แจง ปส.และหน่วยงานกำกับคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้รับฟังคำแนะนำในการหาทางออกในการแก้ปัญหานี้มากมายจากหลายๆ ฝ่ายและเพื่อนทันตแพทย์

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือ กลุ่มทันตแพทย์หลายๆ กลุ่มมีความวิตกกังวลและหวั่นใจว่า หากปัญหายังถูกดึงมิได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง การให้ข่าวสารคนละทิศคนละทาง หลายๆ ครั้งไม่เกิดประโยขน์อย่างแท้จริง ซ้ำยังสร้างความไม่สบายใจ น่ากลัวเกินความจริงแก่คนไข้ ประชาชนที่มารับบริการ

จึงหวังว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหรือท่านนายกรัฐมนตรีจะกรุณาเข้ามาดูแลข้อเท็จจริง และแก้ปัญหานี้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆ ที่จะตามมาและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงกับ พ่อแม่พี่น้องประชาชน คนไข้ที่มารับบริการซึ่งคือพันธกิจที่สำคัญที่สุดของเรา ของทันตแพทย์ ของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกๆ คน

ผู้เขียน ทันตแพทย์ชาญชัย ทนต์ประเสริฐเวช