ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทย์ ขอประชาชนเข้าใจแนวทางคัดกรอง “โควิด-19” ก่อนตรวจรักษาฟัน ชี้เป็นกระบวนการสำคัญช่วยลดความเสี่ยง ซ้ำเติมสถานการณ์แพร่ระบาด ทั้งต่อตัวผู้ป่วยและทีมแพทย์ผู้รักษา ย้ำหากคลินิกพบเคสเข้าข่ายต้องส่งสัย ให้รีบส่งต่อโรงพยาบาลเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในปัจจุบันที่มีการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว และสร้างผลกระทบไม่เฉพาะต่อผู้ติดเชื้อ และผู้ต้องสงสัยติดเชื้อเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังทำให้บุคลากรสาธารณสุข ต้องเพิ่มความระมัคระวังและป้องกันการติดเชื้อ ในระหว่างให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะการให้บริการทันตกรรม

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 ทันตแพทย์พิทักษ์ ไชยเจริญ สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา ให้ความเห็นต่อสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตระหนกกับประชาชนอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการตื่นตัวกับประชาชน สังคม และวงการแพทย์ ที่ต้องตระหนักและพยายามรู้จักเรียนรู้ เข้าถึงรูปแบบของโรคอุบัติใหม่นี้อย่างเร็วที่สุด เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจและสามารถช่วยกันรับมือปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เพื่อลดโอกาสและลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดยเฉพาะการรักษาในด้านทันตกรรมโรคช่องปากและฟันนั้น ทันตแพทย์เป็นผู้ดูแลรักษาได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน ตามที่หลายท่านได้ทราบการประกาศจากคลินิกทันตกรรมของโรงพยาบาลหลายแห่ง ที่แจ้งหยุดหรืองดการรักษาบางประเภท เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน และอื่นๆ แต่ยังคงให้บริการฉุกเฉินทางทันตกรรมอยู่

เนื่องจากลักษณะเครื่องมือทำฟัน เมื่อใช้งานจะมีการเกิดฝอยละออง การฟุ้งกระจายของฝอยละออง เพิ่มความเสี่ยงและทำให้เกิดความวิตกกังวล ถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรคทั้งต่อตัวคนไข้ ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล และผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมถึงบุคลากรทันตกรรมอื่นๆ แต่เนื่องจากความเจ็บป่วยของคนไข้ทันตกรรมจำนวนมากรอไม่ได้ แม้อาจไม่ถึงที่จะเรียกว่าภาวะวิกฤติฉุกเฉิน แต่ก็มีหลายอาการของโรคที่สร้างความเจ็บปวด เจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน มีอาการบวม อ้าปากลำบาก ทานหรือเคี้ยวอาหารหรือกระทบไม่ได้ ซึ่งรบกวนต่อสุขภาพทั้งชองปากและฟัน และกระทบต่อสุขภาพโดยรวมทั้งสุขภาพกายและจิตใจ และเช่นเดียวกับแพทย์ทุกสาขา ที่แม้จะต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 แต่ก็ยังต้องรักษาคนไข้อื่นอยู่อย่างต่อเนื่อง

“แนวปฏิบัติสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง ในการรักษาฟันและช่องปาก ทั้งตัวผู้ป่วยและแพทย์รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในคลินิกทำฟัน คือขั้นตอนการคัดกรองคนให้แน่ชัดก่อนการรักษาด้านทันตกรรม ด้วยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และซักประวัติการเดินทาง รวมถึงแนวโน้มความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 โดยละเอียด หากเข้าข่ายให้ส่งต่อคนไข้สู่ขั้นตอนเฝ้าระวังในโรงพยาบาลต่อไป การทำเช่นนี้จะทำให้คนไข้ที่ไม่มีความเสี่ยง จากเกณฑ์มาตรฐานซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ ยังได้รับการรักษาที่เหมาะสมตามสภาพโรคช่องปากและฟัน ซึ่งในภาพรวมแม้จะใช้เวลาที่นานขึ้นและอาจให้บริการช้าลงไปบ้าง หรือในบ้างกรณีจำเป็นต้องนัดหมายล่วงหน้า แต่ก็เพื่อเพิ่มความมั่นใจไม่เสี่ยงติดเชื้อ จากการเข้ารับการรักษาและไม่เสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น และขอยืนยันว่าทันตแพทย์ยังยินดีให้การรักษาอย่างเต็มที่” ทันตแพทย์พิทักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ทันตแพทย์อาวุโสหลายท่าน ขอให้กำลังใจเพื่อนทันตแพทย์ร่วมวิชาชีพทุกคน ที่เรามีหน้าที่ที่ต้องดูแลโรคภัยไข้เจ็บ จากโรคช่องปากและฟันและเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน เชื่อว่าด้วยการทำงานหนักและมุ่งมั่นทุ่มเท ทันตแพทย์จะหาทางออกและหาวิธีการที่เหมาะสม ปรับตัว ปรับกลยุทธ์ วิธีปฏิบัติทั้งหลาย เพื่อให้เราสามารถกลับมาดูแลคนไข้อย่างดีและปลอดภัยที่สุด

ด้าน ทันตแพทย์ชาญชัย ทนต์ประเสริฐเวช เลขานุการชมรมทันตแพทย์จิตอาสา เสริมว่า หน้าที่ทันตแพทย์ที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ก่อนรักษาผู้ป่วยต้องมีการคัดกรองคนไข้ COVID-19 ก่อน เริ่มตั้งแต่มีที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อเช็คอุณภูมิร่างกาย ว่ามีความผิดปกติมีไข้หรือไม่ พร้อมซักประวัติคนไข้ให้ละเอียดว่ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีการใกล้ชิดและสัมผัสรวมถึงกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเสี่ยง พร้อมตรวจสอบดูและสังเกตุว่าคนไข้มีอาการเป็นไข้หวัด ไอ จาม มีเสมหะ หายใจลำบาก หรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วอยู่ในข่ายที่มีข้อสงสัย ติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ควรส่งไปตรวจอย่างละเอียดที่โรงพยาบาล ที่มีสิทธิของคนไข้เพื่อเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง ติดตามอาการหรือรักษาต่อไป หรือหากเป็นกรณีมีความเสี่ยงสูงโทร 1422 กรมควบคุมโรค เพื่อมารับคนไข้โดยกั้นพื้นที่แยกจากผู้อื่น และบอกให้คนไข้เข้าใจถึงเหตุผลที่หมอไม่สามารถรักษา และต้องเลื่อนการรักษาออกไปก่อน ซึ่งการคัดกรองผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญก่อนการรักษาทุกครั้ง เพื่อพยายามแยกคนที่มีความเสี่ยงน้อย ประชาชนทั่วไป ที่เป็นคนไข้ทันตกรรมได้มีโอกาสได้รับการรักษาตามความเหมาะสมต่อไป

“ประเทศไทยจะรอดจาก COVID-19 ได้เพราะความรู้รักสามัคคี ความมีสำนึกที่ดีต่อสังคม ความรับผิดชอบของทุกคนในแผ่นดินนี้ ความไม่เห็นแก่ตัวของคนในชาติ ทุกสาขาอาชีพต้องช่วยกันรับผิดชอบต่อสังคมและเอื้ออาทรต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล ต้องช่วยกันอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างหนัก ช่วยกันให้ความรู้ ช่วยกันคัดกรองผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ขอให้เห็นแก่ประโยชน์ของสังคม ชาติบ้านเมืองและประชาชนไทยทุกคน ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตน ถ้าเป็นแบบนี้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตินี้ได้แน่นอน” ทันตแพทย์ชาญชัย กล่าว