ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“มูลนิธิศุภนิมิต” เสนอ สธ.บรรจุ อสต.ในโครงสร้างระบบสาธารณสุข หนุนการทำงาน อสต.มีนโยบายรองรับ พร้อมดึงคนข้ามชาติ ร่วมเป็น อสต.เพิ่ม ดูแลสุขอนามัยและสาธารณสุขในพื้นที่แรงงานข้ามชาติ ช่วยควบคุมและป้องกันโรคระบาด ระบุเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพประเทศ

นายชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการโครงการพิเศษมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) เกิดจากการทำงานที่มูลนิธิศุภนิมิตได้เข้าไปทำงานกับกลุ่มคนข้ามชาติ ในด้านสุขภาพ ซึ่งพบปัญหานอกจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจด้วยภาษาที่ต่างกันแล้ว ยังมีเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้นจึงได้หาอาสาสมัครที่เป็นคนข้ามชาติมาร่วมอบรมเพื่อทำหน้าที่ดูแลสุขอนามัยและสาธารณสุข รวมถึงการป้องกันโรคในกลุ่มคนข้ามชาติด้วยกัน เรียกว่า “อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว” (อสต.) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2540 แต่ด้วยขณะนั้นการทำงานด้านสุขภาพในกลุ่มคนข้ามชาติ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ดำเนินการเป็นโครงการ ทำให้การทำงาน อสต.หยุดชะงักเป็นช่วงตามโครงการเช่นกัน จึงคิดว่าทำอย่างไรให้การทำงาน อสต.สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และเมื่อดูในระบบสาธารณสุขเห็นว่า ประเทศไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นคนในชุมชนที่ได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีจิตอาสาในการดูแลและให้คำแนะนำสุขอนามัยเพื่อสุขภาพและให้การช่วยเหลือพื้นฐาน น่าที่จะเชื่อมต่อกับ อสต.ได้

จากแนวคิดนี้มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงได้ชวน อสม.ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันมาทำงานประกบคู่กับ อสต. เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุข โดย อสม.ดูแลคนไทย ส่วน อสต.ให้ดูแลคนข้ามชาติ นอกจากเกิดการดูแลสุขภาพคนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม ยังแก้ไขปัญหา อสม.ที่ไม่สามารถสื่อสารกับคนข้ามชาติได้ ขณะเดียวกัน อสม.ยังช่วยสนับสนุนการทำงาน อสต. โดยในกรณีโรงงาน บ้านเช่า อสม.จะเป็นผู้ขออนุญาตให้กับ อสต.ในการเข้าไปดูแล

“การทำงานของ อสต. คือรูปแบบเดียวกับ อสม. เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายในการดูแลแตกต่างกัน แต่มีภารกิจเดียวกันคือการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับคนในชุมชน” ผู้จัดการโครงการพิเศษมูลนิธิศุภนิมิต กล่าว

นายชูวงศ์ กล่าวว่า การดำเนินงาน อสต. ที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี ทั้งด้านความร่วมมือจาก อสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แต่ทั้งนี้เพื่อให้การทำหน้าที่ อสต.มีบทบาทชัดเจน มีนโยบายรองรับการทำงานจากภาครัฐ มีการจัดอบรม การจัดนิเทศติดตาม จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อสต.ให้อยู่ในโครงสร้างระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ควรกำหนดให้ รพ.สต.ในพื้นที่ซึ่งมีคนข้ามชาติเป็นจำนวนมากมี อสต.ร่วมงานสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งจะให้ อสต.ที่ทำงานด้วยจิตอาสามีความภาคภูมิใจ

“หากดึงคนข้ามชาติร่วมทำหน้าที่ อสต.ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขประเทศ ซึ่ง อสต.แตกต่างกับพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ที่ สธ.อนุมัติให้มีการจ้างเพื่อทำหน้าที่เป็นล่ามใน รพ.สต.ที่เมื่อไม่มีงบประมาณก็ไม่มี พสต. ขณะที่ อสต.เป็นคนข้ามชาติที่มีจิตอาสาทำงานนี้โดยไม่มีค่าตอบแทน เพียงแต่ต้องตกลงเวลาการออกทำหน้าที่ให้ชัดเจนเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้ อสต.อยู่ในระบบ ควรมีการบรรจุ อสต.ในโครงสร้างระบบสาธารณสุข ให้มีการดูแลจากภาครัฐ เพื่อให้คนทำงานรู้สึกภาคภูมิใจ ไม่ใช่เป็นตำแหนงที่ตั้งขึ้นเอง”

หากถามว่า อสต.มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขหรือไม่ นายชูวงศ์ กล่าวว่า คงต้องขออ้างอิงการทำงานของ อสม.ไทย เพราะเมื่อประเทศไทยเกิดโรคระบาด การควบคุมโรคในพื้นที่กลไกหนึ่งที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังยกเป็นต้นแบบคืออาสาสมัครสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโรคซาร์ส ไข้หวัดนก การควบคุมโรคที่ทำได้เร็วเพราะมีอาสาสมัครสาธารณสุขทำงานในพื้นที่ เช่นเดียวกัน อสต.ก็คืออาสาสมัครสาธารณสุข หากเรามองว่า อสม.มีความสำคัญ อสต.ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพียงแต่เน้นการทำงานในพื้นที่แรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่มีนโยบาย อสต.ที่ชัดเจน แม้แต่ พสต.ก็เป็นการจ้างในตำแหน่งอื่นเพื่อมาทำหน้าที่ พสต.

“เวลาเกิดปัญหาโรคท้องร่วงในพื้นที่คนข้ามชาติ คนที่เข้าถึงพื้นที่ก่อน คือ อสต. ที่เข้าไปช่วยดูและรายงานสถานการณ์ เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก คนที่ทำหน้าที่รณรงค์ คว่ำขันน้ำ ใส่ทรายอะเบท กำจัดลูกน้ำยุงลายก็คือ อสต.ไม่เพียงลดการแพร่ระบาดโรคในพื้นที แต่ยังทำให้โรคไม่แพร่กระจายออกไป ซึ่งเป็นความสำคัญของ อสต.”

ต่อข้อซักถามว่า มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุภาครัฐที่ยังไม่ให้ความสำคัญต่อ อสต. นายชูวงศ์ กล่าวว่า คงติดในเรื่องกฎหมายการจ้างงานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเพิ่งเริ่มมีความชัดเจนออกเป็น พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากเดิมที่ออกเป็นมติ ครม.ปีต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับไม่ว่าอย่างไรยังคงต้องมีแรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทย ซึ่งในด้านสาธารณสุขคงต้องรอดูว่าจะมีนโยบายอย่างไรหรือไม่ รวมถึง อสต.ที่อยู่ระหว่างการผลักดัน มองว่าแนวโน้มน่าจะดี

ในการผลักดันที่ผ่านมามูลนิธิศุภนิมิตได้ทำการอบรม อสต.เพื่อเป็นต้นแบบ ซึ่งคงยังทำต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เข้าไปคุยกับฝ่ายนโยบายเพื่อกำหนดให้มี อสต.ในระบบบริการสุขภาพของประเทศ ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานเพื่อบรรจุ อสต.ในแผนยุทธศาสตร์แรงงานข้ามชาติ ซึ่งเห็นสัญญาณที่ดี แต่ในการนำเสนอต่อ ครม.คงต้องติดตามต่อ นอกจากในส่วนของภาครัฐแล้วยังได้ผลักดันในส่วนภาคเอกชน โดยในสถานประกอบการใหญ่ที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ขอให้มีการจัด อสต.เพื่อดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติด้วยกัน

นายชูวงศ์ กล่าวว่า ส่วนจำนวน อสต.ตามที่มูลนิธิศุภนิมิตส่งรายชื่อไปยังกองสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ดูแล อสม.มีจำนวน 87 คน โดยทำงานในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก, จ.ระนอง และ จ.ภูเก็ต แต่ยังมี อสต.ที่ทำงานร่วมกับเอ็นจีโอในส่วนอื่นๆ คาดว่ามีประมาณ 200-300 คน อย่างไรก็ตามจำนวน อสต.ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ หากเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย อสม. 1 คนต่อการดูแล 30 หลังคาเรือน จำเป็นต้องมีการดึงคนต่างด้าวเข้าร่วมเป็น อสต.มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยให้มีสิ่งจูงใจที่ไม่ใช่ค่าตอบแทน อาทิ การเป็น อสต.ที่มีชื่อในหน่วยงานราชการ การมอบใบประกาศการช่วยงานในฐานะ อสต. เป็นต้น ที่เป็นการแสดงถึงตัวตนการเป็น อสต.ที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นการทำงานแบบแอบทำอย่างทุกวันนี้