ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กำลังคนด้านสุขภาพ (Human Resources for Health) เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในระบบสุขภาพ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการดำเนินงานด้านสุขภาพ เพราะเป็นทั้งผู้สร้างและผู้นำเทคโนโลยีด้านสุขภาพไปใช้ อีกทั้งเป็นผู้บริหารจัดการระบบบริการสุขภาพเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีขึ้นในหมู่ประชาชน

ในการวางแผนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข จึงต้องคิดเรื่องการวางแผนกำลังคนทั้งในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ ตลอดจนวางแผนการกระจายบุคลากรดังกล่าวให้เหมาะสมกับความต้องการของระบบสาธารณสุขและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพมีความจำเป็นต้องใช้สมมติฐานระบบสุขภาพในอนาคตร่วมกันในแต่ละวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการใช้บุคลากรระหว่างวิชาชีพ ทั้งนี้นอกจากการคาดประมาณความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องระบุคุณลักษณะและความสามารถที่พึงประสงค์ในแต่ละวิชาชีพเพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการผลิตบุคลากรดังกล่าวให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง

กำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า

รายงานการวิจัยเกี่ยวกับความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ จัดทำขึ้นโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันกำลังคนด้านสุขภาพในวิชาชีพต่างๆ มีขึ้นมากกว่าในอดีตพอสมควรจากการที่รัฐมีนโยบายเพิ่มการผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจากสถานการณ์การผลิตกำลังคนด้านสุขภาพในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการกำลังคน และจำนวนกำลังคนที่จะมีในทศวรรษหน้าหรือปี 2569 เป็นดังนี้

ในวิชาชีพสาธารณสุข จากการคาดประมาณกำลังคนที่ต้องการในปี 2569 เท่ากับ 60,607คน ในขณะที่กำลังคนที่จะมีในปี 2569 เท่ากับ 128,729 – 142,997 คน สะท้อนให้เห็นว่ามีการผลิตที่มากเกินความต้องการของประเทศในปัจจุบัน และหากคงอัตราการผลิตไว้เช่นนี้ ในอนาคตจะมีจำนวนเกินความต้องการของประเทศมาก ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทบทวนจำนวนการผลิต และเร่งปรับสมรรถนะบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพมากขึ้น

ในวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ กายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย/แผนไทยประยุกต์ ในอีก 10 ปี จะมีความเพียงพอจนถึงเกินความต้องการของประเทศ ตัวอย่างเช่น แพทย์ จากการคาดประมาณกำลังคนที่ต้องการในปี 2569 เท่ากับ 38,236 – 46,946 คน ในขณะที่กำลังคนที่จะมีในปี 2569 เท่ากับ 63,065 คน ดังนั้น การเพิ่มการผลิตในวิชาชีพเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

ในวิชาชีพพยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ แม้ว่าจำนวนบุคลากรในอีก 10 ปีข้างหน้า จะยังต่ำกว่าจำนวนบุคลากรที่ประเทศต้องการ แต่พบว่าต่ำกว่าในสัดส่วนที่ไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น พยาบาล จากการคาดประมาณกำลังคนที่ต้องการในปี 2569 เท่ากับ 194,205-237,870 คน ในขณะที่กำลังคนที่จะมีในปี 2569 เท่ากับ 180,9921-193,048 คน

ทันตแพทย์ จากการคาดประมาณกำลังคนที่ต้องการในปี 2569 เท่ากับ 16,457-20,546 คน ในขณะที่กำลังคนที่จะมีในปี 2569 เท่ากับ 17,415 -18,675 คน

ดังนั้น นโยบายการผลิตบุคลากรเหล่านี้เพิ่มจากอัตราการผลิตรวมในปัจจุบัน อาจจะไม่มีความจำเป็นแต่สามารถใช้การบริหารจัดการ เช่น การเพิ่มผลิตภาพ หรือใช้มาตราการลดอัตราการสูญเสียของบุคลากร ก็จะสามารถจัดการความขาดแคลนได้

แนวทางในการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ

จากการคาดการณ์ดังกล่าว แนวทางในการผลิตกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการผลิตเพื่อแก้ปัญหาการกระจายกำลังคนเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการบริการโดยกำลังคนด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมของประชาชน

1) มีการปรับระบบการรับผู้เข้าเรียน ให้เน้นการรับนักเรียนจากพื้นที่ขาดแคลนให้มากขึ้น ให้นักเรียนเหล่านั้นเข้าศึกษาในสถาบันการผลิตที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาตนเอง และเมื่อจบการศึกษามีการจัดระบบให้นักเรียนได้กลับไปทำงานในภูมิลำเนาของตนเอง

2) ส่งเสริมระบบการรับบุคลากรสายสุขภาพที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วเข้ามาศึกษาต่อยอดในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน หรือมีการกระจายตัวไม่เหมาะสม และมีระบบจัดการให้บุคลากรเหล่านั้นกลับไปปฏิบัติงานในในพื้นที่ที่ขาดแคลน

3) ตลอดจนมีการปฏิรูประบบการผลิตทั้งในเรื่องการบริหารจัดการการศึกษา และให้มีการปฏิรูปหลักสูตร/กระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการสุขภาพของประชาชนและบริบทของสังคมไทย

นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ควรที่จะดำเนินการให้เกิดการจัดบริการบนฐานของการมีสัดส่วนวิชาชีพ (Skill mix) ที่เหมาะสม และมีระบบสนับสนุนการถ่ายโอนภารกิจบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องทำโดยบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ (Task shifting) ไปยังบุคลากรกลุ่ม informal เช่น อาสาสมัคร ผู้ดูแลสุขภาพ รวมทั้งบุคลากรภายนอกสายสุขภาพ

ส่งเสริมความเข้มแข็งในการจัดระบบบริการปฐมภูมิ ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ให้บริการสาธารณสุขทุกภาคส่วนและองค์กรที่เกี่ยวข้องในทุกระดับโดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ และถ่ายโอนผู้รับบริการที่พ้นระยะวิกฤติจากหน่วยบริการระดับทุติยภูมิหรือจากระดับตติยภูมิมารับบริการที่ใกล้บ้านมากขึ้น เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรสุขภาพทั้งกำลังคน เครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้ง facility ของโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งลดรายจ่ายของประชาชนเพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนด้านการคลังสุขภาพในระยะยาว

มีการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของกำลังคนด้านสุขภาพ โดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีทดแทนหรือกำลังคนทดแทน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากกำลังคนวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม และสนับสนุนการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อลดการสูญเสีย รวมทั้งให้มีระบบประเมินผลิตภาพและจัดให้มีระบบการพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และจัดให้มีมาตรการในการธำรงรักษากำลังคนด้านสุขภาพในพื้นที่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยประกอบด้วยมาตรการที่หลากหลาย ได้แก่ ระบบการจ้างงาน ระบบค่าตอบแทน และระบบความก้าวหน้า

เก็บความจาก

นพ.ฑิณกร โนรี และคณะ.(2560).โครงการวิจัยเพื่อสังเคราะห์ทางเลือก และข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศในทศวรรษหน้า. สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.).