ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักศึกษาแพทย์เชื่อยุคใหม่หมอต้องรู้ “โค้ดดิ้ง” - เท่าทันโลก “ดิจิตัล” มากขึ้น ส่วนผู้เชี่ยวชาญแนะลงทุนผลิต พยาบาล – บริการปฐมภูมิเพิ่ม เพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ยั่งยืน

วันที่ 29 ม.ค.2563 ที่ศูนย์ประชุมเซนทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ได้มีการประชุมย่อย ในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในหัวข้อ Investing in the Health Workforce towards UHC and SDGs: A Community based Approach หรือ ลงทุนในบุคลากรสาธารณสุขสู่เป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ : ชุมชนเป็นรากฐาน ศ.นีล สไควร์ จาก Better Health Program ภายใต้กองทุนพรอสเพอริตี้ สหประชาชาติ ระบุว่า รากฐานสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากการมีนโยบายที่เข้มแข็ง มีระบบการเงินที่จัดสรรลงไปอย่างเหมาะสม และมีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างโรงพยาบาลแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “กำลังคน” ด้านสาธารณสุข

“ปัจจัยความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอังกฤษ หรือ National Health Security (NHS) ก็คือ การมีจำนวนหมอ - พยาบาล และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ แต่ความท้าทายก็คือ ปัญหาจำนวนผู้สูงอายุในอังกฤษนั้น กำลังหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ คนอายุ 65 – 85 กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นมากจนเป็นปัญหา โดยโครงสร้างบุคลากรสาธารณสุข ไม่ได้มีจำนวนมากพอจะรองรับคนชราที่มากขนาดนั้น” ศ.นีลระบุ

ทั้งนี้ NHS ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีกำลังคนด้านสุขภาพมากที่สุดในโลก สูงถึง 1.5 ล้านคน โดยต้องใช้งบประมาณเป็นสัดส่วนสูงมาก ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับพนักงาน อย่างไรก็ตาม อังกฤษยังคงขาดแคลนพยาบาลจำนวนมาก มีการคาดการณ์ว่ายังต้องการพยาบาลเพิ่มอีกมากกว่า 5 หมื่นคน และจำนวนหมอที่ “สมองไหล” ก็มากขึ้นทุกวัน จากค่าตอบแทนที่ไม่ดีพอ และภาระงานที่หนักหน่วง

สำหรับทางออกจากปัญหานี้ ศ.นีล บอกว่า จะต้องผลิตบุคลากรสาธารณสุข ให้มี “ความเชื่อมโยง” กับพื้นที่มากขึ้น ให้แต่ละชุมชน สามารถดูแลกันเอง ด้วยคนของตัวเอง และยังต้องโปรโมตการส่งเสริมสุขภาพ - ป้องกันโรค เพราะตราบใดที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และป่วยด้วยโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคไต มากขึ้น ก็หมายถึงภาระของบุคลากรสาธารณสุข อย่าง หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ จะล้นมือต่อไป และเมื่อถึงเวลานั้น จะเพิ่มจำนวนบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่พอ

ขณะที่ นพ.เดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หากตั้งเป้าไว้ว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คือเป้าหมายที่ทั่วโลกกำลังวิ่งไปหา สิ่งสำคัญก็คือต้องทำให้บริการสาธารณสุขมีคุณภาพเพียงพอ ซึ่งการจะทำให้ระบบมีคุณภาพ ก็หมายถึงการ “ลงทุน” กับบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตบุคลากรเพิ่ม การดูแลสวัสดิการให้คนเหล่านี้อยู่ในระบบ หรือการพัฒนาให้คนกลุ่มนี้มีความรู้เพิ่มเติม

“การลงทุนด้านบุคลากรสาธารณสุข ถือเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่า เพราะในที่สุด เมื่อคนในประเทศมีสุขภาพดี มีสวัสดิการด้านสาธารณสุขที่ดี ก็มีกำลังในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น เพราะฉะนั้น หลายประเทศต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ให้มุ่งไปสู่การลงทุนผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้น” นพ.เดเนียลระบุ

นพ.เดเนียล เคอร์เทซ และ ศ.นีล สไควร์

ด้านซินเธีย แลม นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า ทักษะที่ต้องการสำหรับนักศึกษาแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังคนด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ก็คือจะต้องสร้าง “เครือข่าย” นักศึกษาจากประเทศอื่น เพื่อรับทราบปัญหาด้านสาธารณสุขที่หลากหลายและไร้พรมแดน พร้อมทั้งแนะนำให้การเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ เข้าใจโลกยุค “ดิจิตัล” มากขึ้น เช่นการเขียนโปรแกรมCoding หรือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ในการช่วยคน

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ตัวจักรสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้สำเร็จก็คือ บุคลากรสาธารณสุข ซึ่งกลุ่มคนที่สำคัญที่สุดไม่ใช่แพทย์ หากแต่เป็นพยาบาล เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และบุคลากรทุกระดับ เพราะคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่า เข้าถึงชาวบ้านมากกว่า

ส่วนแพทย์นั้น โดยระบบของไทย แม้จะต้องไป “ใช้ทุน” ในชนบท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “เข้าใจ” ชนบท และส่วนใหญ่เมื่อใช้ทุนเสร็จ ก็มักจะไปเรียนต่อเฉพาะทาง หรือไปทำงานที่อื่น เพราะฉะนั้น คนที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำเร็จจริง คือคนที่อยู่หน้างาน คนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งใกล้ชิดกับชุมชนมากกว่า

“เพราะฉะนั้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังต้องลงทุนเพิ่มเติมในการผลิตคนเพื่อป้อนเข้าสู่การเป็นพยาบาล และเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบบริการปฐมภูมิ และจะดีไปกว่านั้น หากสามารถผลิตคนจากชุมชน ให้กลับมาทำงานในชุมชนได้ เพราะไม่มีใครรู้ปัญหาของชุมชนได้ดีที่สุด เท่าคนในชุมชนเอง” นพ.สุวิทย์กล่าว