ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทยสภา เดินหน้าผลักดันหลักการห้ามฟ้องอาญาคดีทางการแพทย์ จ่อคลอดกฎหมายตัดการรักษาออกจากคดีผู้บริโภค ด้านอดีตนายกแพทยสภา ระบุ ต้องสอนให้แพทย์อย่าโจมตีกันเอง แนะผ่าตัดมีความเสี่ยงถึงตาย แม้คนไข้จะกลัวก็ต้องบอก เพื่อป้องกันคดี

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หนึ่งที่คุกคามการแพทย์ นั่นก็คือมีการจ่ายเงินให้กับคนไข้ที่ทำหมันแล้วตั้งครรภ์ ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่คุกคามความรู้สึก จริยธรรม และความเป็นแพทย์ นั่นเพราะโอกาสของการทำหมันแล้วตั้งครรภ์อยู่ที่ 1000 ราย ต่อ 6 ราย ฉะนั้นนี่คือเหตุที่คาดการณ์ได้ว่าอาจจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด

นพ.สัมพันธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากพยาธิสภาพของคนไข้เอง คือเกิดจากรังไข่ มดลูก และการมีเพศสัมพันธ์ของคนไข้เอง ซึ่งทางแพทยสภาก็ไม่ยอมและมีมติว่าไม่ให้จ่ายเงินชดเชยให้กับคนไข้ เนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมา มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง

นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นก็คือการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลแล้วต้องจ่ายเงินชดใช้ให้ ซึ่งทางแพทยสภาก็ไม่เห็นด้วย แต่จะให้เหตุผลอย่างไรนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการกลั่นกรองอย่างละเอียดต่อไป

“ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ นั้น เราก็พยายามจะแก้ไขอยู่ ซึ่งโดยหลักการแล้วการประกอบวิชาชีพทางแพทย์นั้นไม่ควรเป็นคดีความทางอาญา ซึ่งเราก็ต่อสู้มาเป็น 10 ปีแล้ว และขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.พิจารณาคดีทางการแพทย์ โดยประเด็นสำคัญก็คือคดีอาญา และตัดการแพทย์ออกจากวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคด้วย” นพ.สัมพันธ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภา กล่าวว่า หากพิจารณาจากคดีที่คนไข้ฟ้องแพทย์จะพบว่าอันดับหนึ่งคือกล่าวหาว่าแพทย์ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาชีพ เมื่อถามต่อว่าแล้วคนไข้รู้ได้อย่างไรว่าแพทย์ไม่ได้มาตรฐาน ก็เพราะแพทย์อีกรายเป็นคนบอก นั่นหมายความว่าแพทย์โจมตีกันเอง ฉะนั้นวิธีการพูดของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องมีการสอนนักเรียนแพทย์กันใหม่ โดยเน้นย้ำถึงวิธีการให้ความเห็นเป็นคนที่สอง

“วิธีการให้ความเห็นเป็นคนที่สองนั้น อย่าไปโจมตีคนแรก ต้องเข้าใจว่าคนแรกเขาอาจจะยังไม่มีข้อมูลอะไรมาก แต่พอระยะเวลาผ่านไปแพทย์คนที่สองอาจจะมีข้อมูลละเอียดมากกว่า ซึ่งเราอาจจะถูกก็จริง แต่ก็อย่าไปโจมตีคนแรก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องก็คือการแจ้งข้อมูลให้กับคนไข้ เช่น จะผ่าตัดก็ต้องบอกคนไข้ด้วยว่าคนไข้เป็นอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีโรคแทรกซ้อนอย่างไร ถามว่าถ้าผ่าตัดแล้วคนไข้อาจจะตายแล้วเราไม่บอกได้ไหมเพราะคนไข้จะกลัว ไม่ได้ ยังไงก็ต้องบอก คนไข้กลัวก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเราไม่บอกแล้วผ่าตัดไปแล้วคนไข้ตาย สุดท้ายเราอาจจะตายแทน แล้วเราก็ต้องบอกด้วยว่ามีวิธีอื่นอีกไหม ข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ให้คนไข้คิดเอา แล้วก็ต้องบอกด้วยว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยคนไข้จะเป็นอะไร ทั้งหมดนี้คือมาตรฐานของอเมริกา

“นอกจากบอกแล้วเราก็ต้องบันทึกหลักฐานไว้ด้วย เขียนเอาไว้ด้วย เพราะถึงเราจะบอกแทบตาย แต่สุดท้ายพอขึ้นศาลแล้วคนไข้บอกว่าเราไม่ได้บอก ก็จะเกิดปัญหาตามมา นี่คือวิธีที่ปลอดภัยที่สุด” นพ.สมศักดิ์ กล่าว