ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง 1,200 คน รับทราบนโยบายและทิศทางการดำเนินงานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ครอบคลุมทุกอำเภอ 878 แห่ง ทั่วประเทศปีนี้ ตามเป้าหมาย “คนอำเภอเดียวกัน ไม่ทอดทิ้งกัน”

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ โดยมีผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าประชุม 1,200 คน เพื่อรับทราบนโยบายการขับเคลื่อนคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอและระบบระบบสุขภาพอำเภอให้มีความชัดเจนไปในทิศทางเดียวกัน

นพ.เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนในอำเภอ โดยใช้ “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)” ซึ่งเป็นการบูรณาการดำเนินการร่วมกันระหว่างนายอำเภอ ผู้แทนส่วนราชการภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมแก้ปัญหาตามบริบทของแต่ละอำเภอโดยประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีเป้าหมายให้คนอำเภอเดียวกันไม่ทอดทิ้งกัน และ คนไทยใส่ใจดูแลกัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสำคัญทั้งในระดับอำเภอและในระดับประเทศ ให้ความสำคัญกับคุณค่าและศักยภาพของรายบุคคล ครอบครัวและชุมชน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559 - 2560 คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ได้ดำเนินการไปแล้ว 200 อำเภอ ซึ่งครอบคลุมทุกจังหวัด และในปีนี้ จะดำเนินการเพิ่มอีก 678 อำเภอ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนครอบคลุมทุกอำเภอของประเทศไทย จากการดำเนินการที่ผ่านมานั้น หลายอำเภอที่ประสบความสำเร็จ เช่น

คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ได้จัดการกับปัญหาโรค NCD ในชุมชน โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้ประชาชนรักสุขภาพ ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองแก่คนในชุมชน ทำให้ปัญหาโรคไข้เลือดออก วัณโรค และความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนั้น ยังใส่ใจการดูแลผู้ป่วยสูงอายุในพื้นที่ มีโรงเรียนผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น และยังได้จัดตั้งชมรมปลูกผักสวนครัว เพื่อนำผักไปขายในโรงพยาบาล ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ตามเป้าหมายการพัฒนาให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี และลดความเหลื่อมล้ำ โดยการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันตามบริบทของแต่ละอำเภออย่างมีส่วนร่วม