ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.พุทธชินราช ทำโครงการสร้างสุขทางการเงิน ให้บุคลากรยืมเงินไปแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เผยเคล็ดลับต้องปรับทัศนคติและสร้างวินัยทางการเงินก่อนให้กู้ยืม ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่จบ ส่วนคนที่เข้าโครงการแล้ว พบว่ามีความสุขและประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นมาก

พญ.พรพิศ ตรีบุพชาติสกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ด้านพัฒนาสังคมจิตวิญญาณและครอบครัว โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก กล่าวถึงการพัฒนาความสุขของบุคลากรในมิติของ Happy Money ว่า ปัญหาของบุคลากรส่วนหนึ่งคือปัญหาหนี้สิน มีหลายรายที่เคยทำงานดี ช่วยเหลือคนอื่น ไม่ปฏิเสธงาน ขยัน แต่พอมีปัญหาหนี้สิน มีเจ้าหนี้มาตามทวง ประสิทธิภาพการทำงานก็ลดลง บางรายถึงขั้นหนีออกจากงานไปเลย ทางโรงพยาบาลจึงได้จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนทัศนคติและให้เงินกู้แก่บุคลากรที่มีปัญหาหนี้สินขึ้นมา โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 และพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ความสุขและประสิทธิภาพคนทำงานดีขึ้นอย่างมาก

พญ.พรพิศ ให้ข้อมูลว่าโครงการนี้แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างวินัยทางการเงิน และเฟสที่ 2 เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ โดยในปี 2559 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 25 คน โดยส่วนใหญ่เป็นบุคลากรระดับล่างและมีกลุ่มวิชาชีพด้วยอีกเล็กน้อย

สำหรับการดำเนินงานในเฟสแรก จะใช้เวลา 4 เดือนแรกทำการปรับทัศนคติอย่างเดียว เน้นการเปิดใจให้ยอมรับว่าการเป็นหนี้ไม่ได้หมายถึงเป็นคนร้ายคนเลว ให้ยอมรับภาวะหนี้ของตัวเองและมองมันอย่างเต็มตาได้ จากนั้นค่อยๆ เอาปัญหามาคลี่ดูว่าอยู่ตรงไหนและจะทำอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันในระหว่างนี้ก็จะปลูกฝังเรื่องการสร้างวินัยทางการเงินไปด้วย เช่น ให้จดบัญชีรายวัน รายเดือน บัญชีหนี้สินต่างๆ

“ก่อนหน้านี้เขาจะรู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าเผชิญปัญหาตรงๆ รู้สึกอาย ไม่กล้าพูดถึงมัน ไม่กล้าหยิบมาดูว่าจะแก้อย่างไร ไม่ปรึกษาใคร ใครมีเงินให้ก็ไปหาคนนั้น พอวางแผนไม่เป็น เอาเงินนอกระบบมาปิดในระบบบ้าง หมุนเงินไปหมุนเงินมาจนกลายเป็นวงจรที่ดิ้นไม่หลุด เราก็ต้องเริ่มที่ทัศนคติก่อน เราจะยังไม่ให้เงินเพราะถ้าให้เงินไปปิดยอดหนี้แล้วคิดว่าจะจบ มันจะยังไม่จบ เขายังไม่เปลี่ยนทัศนคติก็มีโอกาสกลับไปเป็นหนี้อีก” พญ.พรพิศ กล่าว

ทั้งนี้เมื่อผ่านขั้นตอนในเฟสแรกแล้ว โรงพยาบาลจะคัดเลือกผู้ที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติได้แล้วเข้าสู่เฟสที่ 2 คือการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฟสนี้มีผู้ผ่านการปรับทัศนคติจำนวน 17 คน โรงพยาบาลได้จัดทีมให้คำปรึกษาลักษณะคล้ายกับคลินิกทางการเงิน ให้แต่ละคนเปิดเผยหนี้ของตัวเองให้หมดเพื่อวางแผนว่าจะปิดก้อนไหนก่อน หนี้ก้อนไหนดอกเบี้ยเยอะดอกเบี้ยน้อย บางคนก็ต้องเอาครอบครัวมาคุยด้วย เพราะตัวเองไม่ใช่คนสร้างหนี้แต่ขัดคนในครอบครัวไม่ได้ ก็ต้องคุยกันทั้งบ้าน

สำหรับเฟสนี้ทางโรงพยาบาลได้อนุมัติเงินสวัสดิการประมาณ 1.5 ล้านบาทเพื่อให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลาการจ่ายคืน 2 ปี แต่ไม่ได้ให้ทั้งหมด จะช่วยเฉพาะในส่วนของหนี้นอกระบบเพราะดอกเบี้ยแพง บางเคสก็ต้องไปต่อรองกับเจ้าหนี้ให้ด้วย เพราะถ้าจ่ายตามที่เจ้าหนี้เรียกจะแพงมาก ก็ต้องต่อรองว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าเอาก็ได้เงินก้อนไปเลย ถ้าไม่เอาก็ต้องค้างไปก่อนเพราะลูกหนี้ไม่มีศักยภาพจะจ่ายจริงๆ

“ยอดหนี้ก็หลักแสนทั้งนั้น แต่เราจะช่วยตรงนอกระบบ วงเงินที่ใช้ตั้งแต่ 4-5 หมื่น ถึง 2 แสนบาท ส่วนหนี้ในระบบที่ดอกเบี้ยไม่สูงก็ให้เขารับผิดชอบเอง ปี 2559 ใช้ไป 1.5 ล้าน ปี 2560 ก็พอๆ กัน โดยปีนี้มีคนสมัครเข้าโครงการอีกประมาณ 20 คน แต่ผ่านเข้าสู่เฟส 2 อีก 14 ราย ซึ่งการปรับทัศนคติ สร้างวินัยทางการเงินเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนเยอะๆ บางคนก็ยังไม่ส่งบัญชีก็ยังมี พอให้เงินแล้ว เราก็จะมีพี่เลี้ยงคอยติดตามว่ายังโอเคไหม ส่งบัญชีหรือยัง บางคนไม่ส่งบัญชีแต่แบ่งเงินเป็นก้อนๆ ก็โอเคพอรับได้ เราก็ต้องใช้วิธีตรวจการบ้านด้วยและพูดคุยทุกเดือนด้วย” พญ.พรพิศ กล่าว

พญ.พรพิศ กล่าวอีกว่า หลังจากที่ดำเนินโครงการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว พบว่าความสุขของพนักงานดีขึ้น เริ่มมีกำลังใจว่ามีวันที่จะหลุดออกจากหนี้ได้ พอความสุขเพิ่ม ไม่มีเจ้าหนี้คอยตาม สมาธิกับงานก็ดีขึ้น performance ก็ดีขึ้นทุกคน แต่ที่น่าพอใจกว่านั้นคือคนกลุ่มนี้สามารถตอบได้ว่าปัญหามาจากตัวเอง ซึ่งเป็นมุมมองที่ถ้าคิดได้เช่นนี้ก็มีทางที่จะรอด

พญ.พรพิศ กล่าวสรุปถึงภาพรวมการดำเนินโครงการว่าถือว่าได้ผลน่าพอใจแต่ไม่ 100% เพราะการเปลี่ยนทัศนคติก็ยังเปลี่ยนไม่ได้ 100% คนระดับล่างเปลี่ยนง่ายกว่าระดับบน และการสร้างวินัยก็เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ทำเป็นปี ไม่ใช่เปลี่ยนข้ามคืน ปัญหาหนี้สินเกิดกับบุคลากรทุกระดับ แต่คนที่มาเข้าโครงการจะเป็นคนที่ถึงทางตันจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ก็มีพยาบาลและกลุ่มวิชาชีพมาด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับล่างใช้เงินไม่เยอะ ให้ความรู้และปรับทัศนคติเล็กน้อยก็พอได้ แต่กลุ่มวิชาชีพหรือคนที่มีเงินเดือนสูงๆ จะมีหนี้ก้อนใหญ่มาก ปัญหาก็จะซับซ้อนกว่า เช่น เองเงินลงทุนแล้วเจ๊งแต่ยังอยากแก้มือ เป็นต้น

พญ.พรพิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า Key success ในการทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จคือการเอาจริงเอาจัง โรงพยาบาลจริงใจกับการแก้ปัญหาเพราะเห็นว่าเชื่อมโยงกับความสุขและประสิทธิภาพของบุคลากร แม้จะเพิ่มเงินเดือนให้ไม่ได้แต่ก็ต้องช่วยแก้ปัญหาบ้างบางอย่าง คนทำงานก็จะรู้สึกว่าองค์กรยังห่วงใยและยังมีคำตอบให้ได้บ้างแม้จะยังแก้ไม่ได้เบ็ดเสร็จทั้งหมด

อีกประการคือการมีทัศนคติต่อคนกลุ่มนี้ในเชิงบวก มองว่าเป็นคนดี ไม่ใช่คนที่อยากจะสร้างปัญหา เพียงแต่ตอนนี้มันเกิดปัญหากับชีวิต โรงพยาบาลก็น่าจะช่วยเหลือเพราะสุดท้ายแล้วผลสะท้อนก็จะกลับมาที่ประสิทธิภาพงานนั่นเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง