“หมอชาตรี” ประธานบอร์ดควบคุมคุณภาพฯ สปสช.สรุปผลงานรอบครึ่งวาระแรก ช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานบริการสาธารณสุขสิทธิบัตรทอง พร้อมพัฒนางานคุ้มครองสิทธิ เผยรอบ 2 ปี มีเรื่องพิจารณาร่วม 50 เรื่อง จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข 373 ล้านบาท เตรียมรุกงานต่อเนื่อง มุ่งสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยั่งยืน
นพ.ชาตรี บานชื่น
นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้การรับบริการสุขภาพภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ชุดปัจจุบันเป็นสมัยวาระที่ 4 (วาระดำรงตำแหน่งปี 2559-2562) ซึ่งภายหลังจากดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 ได้จัดประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปี (ปีงบประมาณ 2559 -2560) รวมถึงการวางแนวทางดำเนินงานในระยะเวลาต่อไป เพื่อทบทวนการดำเนินงานที่นำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาและดำเนินการโดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพจำนวน 50 เรื่อง ผลการดำเนินงานสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ อาทิ การป้องกันไฟฟ้าจากเครื่องปั๊มลมไฟฟ้าของยูนิตทำฟันดูดผู้รับบริการ, การป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด, การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากยาคลอโรควิน (Chloroquine) ในผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ (Rheumatoid) และการป้องกันภาวะติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจก การพิจารณาข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและขยายบริการภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ ข้อเสนอการคัดกรองมะเร็งลำไส้ไหญ่ (CA Colon), ข้อเสนอต่อแนวทางการดำเนินงาน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนากลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทย (Thai Diagnosis Related Groups V.6 :TDRG) และข้อเสนอต่อการบริหารจัดการงบจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการ เป็นต้น
นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการดำเนินงานด้านคุ้มครองสิทธิ มีการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ตาม ม.41 เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ซึ่งมีคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่พิสูจน์ถูกผิด สามารถลดข้อขัดแย้งในระบบสุขภาพระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้มาก โดยใน 2 ปีที่ผ่านมามีการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้วจำนวน 1,546 ราย จากจำนวนคำร้อง 1,892 ราย เป็นเงินที่จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น 373 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการสอบสวนหน่วยบริการ ตามมาตรา 57 และมาตรา 59 ในประเด็นมาตรฐานบริการหรือสิทธิในการเข้ารับบริการสาธารณสุข จำนวนรวมกว่า 50 เรื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของหน่วยบริการและคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการ
สำหรับการดำเนินงานกำกับคุณภาพมาตรฐานและคุ้มครองสิทธิในระดับพื้นที่ มีคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเชิงรุกที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ประชาชน ผู้ให้บริการ และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทำให้การพัฒนาคุณภาพเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ทั้งนี้ยังได้มีการขยายและพัฒนาศักยภาพหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) เพื่อให้เป็นหน่วยประสานงานและรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 114 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและได้รับการคุ้มครองสิทธิมากยิ่งขึ้น
นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า การทำงานในช่วง 2 ปีจากนี้ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ยังคงมุ่งมั่นทำงานสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ระบบยั่งยืน เน้นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รวมทั้งสร้างความเข้าใจการดำเนินงานและสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน
- 22 views