ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศวปถ.หนุนห้ามนำเหล้าเข้าอุทยาน ไม่ขายไม่ดื่ม เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย เชื่อ ปชช.ออกท่องเที่ยวเร็วกว่ากำหนด หวั่นกลุ่มดื่มฉลองข้ามคืน ส่งผลต่อสมรรถนะการขับรถวันรุ่งขึ้น เสี่ยงหลับใน-เมาแล้วขับ ด้านเครือข่ายต้านเหล้า ชี้ร้องเรียนแจ้งเหตุคนเมาป่วนอุทยาน โทร.1362

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560 นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า การมีมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายสุราในพื้นที่อุทยาน ซึ่งเป็นแหล่งที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปพักค้างคืน จะเป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยง ทั้งเรื่อง ดื่ม/เมาขับ และลดความเสี่ยงจากหลับในเพราะการดื่มฉลองข้ามคืน จะส่งผลต่อสมรรถนะการขับรถในวันรุ่งขึ้น จึงสนับสนุนมาตรการนี้อย่างเต็มที่ และอยากให้ปฏิบัติได้จริงในทุกอุทยานและวนอุทยาน และอยากให้นักท่องเที่ยวเคารพกติกานี้ด้วย ไม่ควรนำเหล้าเบียร์เข้าอุทยานเด็ดขาด ส่วนเจ้าหน้าที่อุทยานต้องคุมเข้มไม่ปล่อยปละละเลย หากยังปล่อยให้ลักลอบนำเข้าไปได้ปัญหาเดิมๆ ซ้ำซากจะตามมา และไม่ใช่กระทบต่อตัวนักท่องเที่ยวยังเป็นการรบกวนธรรมชาติสัตว์ป่าอย่างมิบังควร

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า 7 วันอันตรายช่วงปีใหม่ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 7,805 รายเป็น 8,820 ราย หรือเพิ่มขึ้น 13% โดยเฉพาะวันที่ 29 ธันวาคมซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาล มีผู้บาดเจ็บที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 33% จาก 816 ราย เป็น1,089 ราย โดยตลอด 7 วันพบเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ถึง 1 ใน 5 หรือ 20.45% ประสบอุบัติเหตุโดยมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยถึง 1,864 ราย เฉลี่ย 266.3 ราย/วัน หรือ 11 คน/ชั่วโมง ในช่วงปีใหม่พบว่าประชาชนมีแบบแผนการเดินทางที่เปลี่ยนไป โดยทยอยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เร็วขึ้น ที่สำคัญคือมีการใช้รถส่วนบุคคลเพื่อเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5-10% โดยเฉพาะเดินทางไปพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวฤดูหนาว เช่น อุทยานแห่งชาติ วนอุทยานและจุดท่องเที่ยวอื่นๆ จำนวนมาก

โดยพื้นที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่พบว่ามีสภาพเส้นทางคดเคี้ยว สูงชัน มีโอกาสเกิดทัศนะวิสัยที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น หมอกลง หรือฝนตก ซึ่งปีใหม่ที่ผ่านมา พบแนวโน้มอุบัติเหตุที่เกิดจากทัศนะวิสัย หมอก, ฝนตก สูงถึง 27% เพิ่มขึ้น 10% ถึงแม้บางท่านคิดว่าจะเลือกวิธีการดื่มบนรถขณะเดินทางเข้าพื้นที่อุทยาน หรือวนอุทยาน ก็ขอเตือนว่าท่านจะมีความผิดทั้งกฎหมายเมาแล้วขับรวมไปถึงกฎหมายห้ามดื่มบนรถขณะรถอยู่บนทางอยู่บนถนน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการเดินทางท่องเที่ยวเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน ช่วงปีใหม่นี้ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดีที่สุด” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นายชูวิทย์ จันทรส

ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ต้องชื่นชมกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืชที่กล้าทำในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของการท่องเที่ยว ความปลอดภัย และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่า อันเกิดจากพฤติกรรมกินดื่มที่สร้างปัญหา อย่างไรก็ตามในช่วงวันหยุดยาวต้นเดือนนี้ตนได้มีโอกาสไปตั้งแคมป์ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จุดกางเต้นท์ลำตะคอง ก็พบว่าโดยภาพรวมเรียบร้อยขึ้นมาก มีเพียงบางกลุ่มที่ยังแอบนำเหล้าเบียร์ขึ้นไปได้ ซึ่งในที่สุดก็เกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ในกลุ่มวัยรุ่นที่กินดื่มเริ่มเสียงดังเอะอะโวยวายสร้างความรำคาญให้กับนักท่องเที่ยวรายอื่น และตัวเองก็ได้โทรศัพท์แจ้งร้องเรียนไปยังเบอร์ 1362 ซึ่งก็มีคนรับสายแม้เป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน หลังจากแจ้งเหตุไปไม่เกิน 10 นาที พบว่ามีเจ้าหน้าที่อุทยานจำนวนหนึ่งเดินทางไปยังจุดที่มีวัยรุ่นส่งเสียงดังโวยวาย หลังจากนั้นกลุ่มดังกล่าวก็กลับมาอยู่ในความสงบ คาดว่าคงมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้สถานการณ์สงบเรียบร้อยลงได้

“อยากให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มแอบนำเหล้าเบียร์ขึ้นไปดื่มกิน ฝ่าฝืนกฎหมาย รวมถึงปัญหาอื่นๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและวนอุทยาน ให้แจ้งไปที่สายด่วน 1362 ซึ่งทางกรมอุทยานได้ออกแบบการประสานงาน การระงับเหตุและบังคับใช้กฎหมายเอาไว้อย่างน่าพึงพอใจ สุดท้ายอยากขอร้องนักท่องเที่ยวว่าอย่าละเมิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิของคนอื่น ควรเสพธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ต้องการเปลี่ยนที่กินเหล้า เปลี่ยนบรรยากาศ” นายชูวิทย์ กล่าว