ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปิดฉากสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” ศวปถ.-ภาคีฯ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายอุดช่องโหว่ความปลอดภัยทางถนน มอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่ต้องมีเบรก ABS หนุนแยกใบขับขี่บิ๊กไบค์จากรถปกติ พร้อมเสนอเพิ่มโทษผู้ขับขี่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย

​วันที่ 8 ส.ค. 62 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานพิธีปิดการสัมมนาระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” ระหว่างวันที่ 7-8 ส.ค. 62 จัดโดย ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กร

​นายชยพล กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนถือเป็นเรื่องที่ “ป้องกันและลดความสูญเสียลงได้” รัฐบาลจึงได้กำหนดเป็นวาระสำคัญและตั้งเป้าหมายที่จะลดผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง โดยนำกรอบ 5 เสาหลักขององค์การสหประชาชาติ และเป้าหมาย 12 ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนงาน โดยเน้นการสร้างกลไกการจัดการทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ ทำงาน “ต่อเนื่องตลอดทั้งปี” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตำบลปลอดภัย โดยมีกลไกศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนจังหวัด และ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและท้องถิ่นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น “กลไกหลัก” ในการขับเคลื่อนการทำงานของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในระดับพื้นที่ให้สามารถจัดการความเสี่ยงและปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

​ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ตลอดทั้ง 2 วัน มีผู้เข้าร่วมสัมมนามากกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนจากทั่วประเทศ โดยได้ข้อเสนอเชิงนโยบายหลักๆ ดังนี้

1) กลไกการจัดการระดับพื้นที่ เสนอให้ ศปถ.จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพคณะทำงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด และรัฐบาลควรจัดทำตัวชี้วัดร่วมระหว่างหน่วยงานอุบัติเหตุด้วยกัน เพื่อการกำกับติดตาม

2) ถนนปลอดภัย เร่งผลักดันให้ถนนทุกสายผ่านการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ระดับ 3 ดาวขึ้นไป เพื่อความปลอดภัยของคนเดินเท้า ผู้ใช้รถจักรยาน และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (VRUs) พร้อมเสนอให้กระทรวงคมนาคม และอปท. สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่ดีเพื่อรองรับความผิดพลาดของมนุษย์

3) รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เสนอให้ขนส่งจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สนับสนุนการตรวจสภาพรถและออกใบอนุญาตฯ รถรับส่งนักเรียน รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้และสมรรถนะด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการ

4) จักรยานยนต์ เสนอให้รถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ต้องมีระบบเบรก ABS และพัฒนาระบบออกใบอนุญาตขับขี่ โดยแยกประเภทจักรยานยนต์ในกลุ่ม cc สูง (big bike) และให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท พัฒนาเลน สะพานลอย และทางลอด สำหรับจักรยานยนต์

5) การบังคับใช้กฎหมาย เสนอให้ท้องถิ่นเข้ามีบทบาทร่วมบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมพฤติกรรมเสี่ยงพื้นฐาน เช่นการไม่สวมหมวกกันน็อก เสนอให้ควบคุมความเร็วรถทุกชนิดในเขตชุมชน เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ตลอดจนสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน