ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยากยิ่งนักที่จะหาเจ้านายที่มีครบตามหลักพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ที่โลกหมุนด้วยกระแสทุนนิยม วัตถุนิยม ผนวกกับความลุ่มหลงมัวเมากับศาสตร์ตะวันตกที่ทำให้ระบบงานทุกแวดวงมุ่งจะลดต้นทุน รีดประสิทธิภาพ หาตัวเลขความคุ้มค่า เพิ่มกำไรทั้งเชิงเม็ดเงินและผลที่กระหายใคร่อยากได้

พึงระวังให้ดีว่าไอ้ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น หากเป็นแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมที่มุ่งหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง เค้ายังต้องมีหลักจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจมาช่วยกระตุกขา ดึงจิตใจไม่ให้มัวเมากับกิเลสความอยากได้อยากมี อันได้แก่

หนึ่ง ถามตัวเองอยู่เสมอว่าที่ประชาสัมพันธ์ โฆษณาอะไรต่างๆ ไปนั้น สินค้าหรือบริการที่เราค้าขายอยู่น่ะมีสรรพคุณหรือคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างไหม

สอง คอยตรวจตรากำกับให้ดีว่า การค้าขายของเรานั้นทำไปแบบเลือกที่รักมักที่ชังไหม คนรวยคนจน คนมีศักดินาคนติดดิน นั้นได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมไหม ไปดูถูกเหยียดหยามไหม

สาม ระลึกไว้เสมอว่า เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการตรวจสอบให้ดีว่า ปัจจัยนำเข้า กระบวนการผลิต ผลผลิตในรูปแบบสินค้าบริการใดๆ ตลอดจนการตลาดประชาสัมพันธ์ของเราทั้งหมดในห่วงโซ่การผลิตนั้นก่อให้เกิดผลลบ ผลกระทบ ผลเสียต่อสังคมบ้างหรือไม่ หากมี ก็จำเป็นต้องปรับหรือแก้ไขหรือหาทางเยียวยา

หลักจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจที่กล่าวมานั้น มีนัยยะมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการนั้นมีเมตตากรุณาต่อทั้งคนทำงานในองค์กร และผู้บริโภค

ในขณะที่ในระบบงานภาครัฐ ที่มิได้แสวงหากำไรเป็นที่ตั้งนั้น เป็นงานที่ให้บริการดูแลประชาชนในสังคม ซึ่งโดยแท้จริงแล้วยิ่งเป็นภาระหนักอึ้งต่อผู้บริหารองค์กรภาครัฐ ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้งมากเป็นเท่าทวีคูณ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอย่างรุนแรง ทั้งต่อคนในระบบรัฐและประชาชนทั้งหมดในสังคม

เราคงเคยเห็นข่าวอยู่เนืองๆ ทั้งเรื่องชู้สาว คอรัปชั่น ตลอดจนการใช้อำนาจโดยมิชอบ แล้วก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายตามมาอย่างมาก ซึ่งหากสาวกลับไปก็จะพบว่าล้วนมีสาเหตุจากการขาดความเมตตากรุณาทั้งสิ้น

ในภาษาบ้านๆ เมตตาคือ ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข หวังดีต่อคนอื่น ในขณะที่กรุณาคือ ปรารถนาให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ ทั้งนี้คำว่าคนอื่นนั้นมิได้จำกัดอยู่ในระดับบุคคล แต่หมายรวมถึงคนทุกคนในสังคม คนที่คอรัปชั่น หรือประพฤติมิชอบใดๆ ก็ด้วยหวังอยากให้ตนเองและ/หรือครอบครัวมีเงินทอง มีอำนาจ มีแหวน มีนาฬิกา มีที่ดิน มีบ้าน มีวัตถุโน่นนี่นั่น จะได้มีความสุข แต่มิได้หวังอยากจะให้คนอื่นในสังคมมีความสุขไปด้วย ในขณะเดียวกันก็มิได้ห่วงใยความเดือดร้อนต่อประชาชนในสังคมอันเกิดจากผลกระทบของการฉ้อราษฎร์บังหลวง

หากเอาแบบที่เล็กลงมาหน่อย คนที่บริหารองค์กรรัฐ ที่มิได้เข้าใจชีวิตคนทำงานในระบบรัฐเลยว่าในปัจจุบันมีคุณภาพชีวิตเป็นเช่นไร ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้นั้นไม่เพียงพอที่จะดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนทำงานภาครัฐนั้นส่วนใหญ่ตั้งใจปวารณาตัวมารับใช้ประชาชน และมีจิตใจมุ่งมั่นที่ผลักดันให้งานสำเร็จ เราจึงเห็นเค้าต้องเจียดเอาเวลาส่วนตัว แทนที่จะไปอยู่กับครอบครัว กลับตัดสินใจมาดูแลประชาชนยามเดือดร้อน เจ็บป่วย หรืออื่นๆ หลายครั้งต้องออกจากที่ทำงานไปลงพื้นที่ ใช้เงินส่วนตัว รถส่วนตัว โทรศัพท์ส่วนตัว โดยมุ่งหวังให้งานต่างๆ ประสานไปได้อย่างราบรื่น เบิกคืนไม่ได้ก็ไม่ว่า แค่เห็นรอยยิ้มของประชาชนก็รู้สึกมีความสุข แม้ใจจริงอยากจะเรียกร้องให้ผู้บริหารเห็นใจ หรือช่วยเหลือเบิกจ่ายกลับคืน แต่ก็เข้าใจว่ามีข้อจำกัด จึงได้แต่ยิ้มรับและทำงานต่อไป

วิกฤติที่จะตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานกับองค์กรนั้นจะเกิดขึ้นแน่นอนหากผู้บริหารภาครัฐนั้นไม่ตั้งมั่นในความเมตตากรุณาต่อคนทำงานเหล่านั้น คนทำงานจะยิ่งระส่ำระสาย อยู่ไม่เป็นสุข หากทนไม่ไหวก็ออกจากระบบ

แต่ที่หนักที่สุดคือ ไม่ออกจากระบบ แต่ทนอยู่ ทำงานโดยขาดชีวิตจิตใจ ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบและต่อบริการดูแลประชาชน

เห็นใจเค้าเถิดครับ ก่อนออกนโยบายใดๆ ที่กระทบต่อคนหมู่มาก จงใคร่ครวญให้ดีว่า ชีวิตจริงนั้นเป็นอย่างไร นโยบายที่ออกมาเป็นประเภทขี่ช้างจับตั๊กแตนไหม? ใจเขาใจเราเป็นอย่างไร? รีดเลือดกับปูไหม?

นโยบายไหนหากไม่แน่ใจ ไม่ชัวร์จริงๆ อย่าสั่งออกมาให้เป็นที่กระทบกระเทือนจิตวิญญาณของบุคลากรเลย หากคิดเช่นที่บอกมา และยึดมั่นในความเมตตากรุณา หวังอยากให้คนมีความสุข พ้นจากทุกข์ นโยบายดีๆ ก็จะออกมาให้คนแช่มชื่นหัวใจ จะไม่มีทางเห็นนโยบายห้ามชาร์จไฟมือถือ ห้ามใช้อุปกรณ์สำนักงานหยุมหยิม หรือห้ามจอดรถค้างคืนเลย

บางครั้งชีวิตคนเรานั้นเรื่องงานก็มาระรานปนเปกับชีวิตส่วนตัวบ้าง เราทุกคนที่เป็นคนทำงานล้วนย่อมเคยประสบกับสถานการณ์ที่ต้องทำงานทุกอย่างในที่เดียวกัน ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน

ขืนออกนโยบายแบบนี้มา เดี๋ยวจะมี ผบ.ทบ.ที่บ้านออกกฎว่า ห้ามใช้ทรัพยากรใดๆ ของส่วนตัวไปใช้กับงานโดยเด็ดขาด คราวนี้...รู้ไหมว่าจะยุ่งเหยิงเพียงใด? เมตตา...กรุณา...เถิดครับ!!!

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย