ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลไทยมีเด็กด้อยโอกาสอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน 80% เป็นเด็กยากจน 6% เป็นกลุ่มเด็กหลายชาติพันธุ์ ที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสิทธิด้านสาธารณสุขทั้งหลักประกันสุขภาพและการรักษาที่ชัดเจน กรมสุขภาพจิตมุ่งสร้างความเท่าเทียมให้แก่เด็กพิการและด้อยโอกาสในสังคม หวังให้ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและอยู่กลมกลืนในสังคม

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2561 กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูล ได้จัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ “พัฒนาอย่างยั่งยืน กลมกลืนในสังคม” (Inclusiveness and sustainable development) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกๆ ปี ให้กับเด็กๆกลุ่มที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญกับพัฒนาการในเด็กปฐมวัย และเน้นการเฝ้าระวังเพื่อดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ในเด็กวัยเรียนซึ่งพบว่าในจำนวนประชากรเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) ในประเทศไทยมีจำนวน 13,825,194 คน (กรมการปกครอง : มิ.ย.2560) เป็นเด็กด้อยโอกาสอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ส่วนใหญ่พบเป็นเด็กยากจน ร้อยละ 80 และ ร้อยละ 6 ที่เป็นกลุ่มเด็กหลายชาติพันธุ์ ที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสิทธิด้านสาธารณสุขทั้งหลักประกันสุขภาพและการรักษาที่ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานของรัฐที่รับเข้ารักษาต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเอง เพื่อมิให้เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสทางการรักษาพยาบาล

และกลุ่มเด็กที่มีความพิการทางสติปัญญาและออทิสติก เป็นจำนวน 220,842 คน โดยมีความด้อยโอกาสในหลายด้านรวมอยู่ด้วยนั้น พบว่าเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพ เพียงร้อยละ 5.59 และเข้าถึงระบบการศึกษา เพียงร้อยละ 25.33 ซึ่งเด็ก 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษามากที่สุด อันจะส่งผลถึงการเจริญเติบโตตามพัฒนาการอย่างสมวัยและประเทศชาติ ยังเสียโอกาสที่สำคัญในการมีบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตอีกด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในปี 2556-2558 ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วางแผนการดำเนินงานและประเมินผลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โดยหน่วยงานในท้องถิ่นภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสุขภาพจิตให้กับโรงเรียนเฉพาะความพิการ ทั้ง 19 แห่ง ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา จากผลการดำเนินงานในภาพรวม ยังพบว่า เด็กนักเรียนมีปัญหาสุขภาพร่างกายหรือสุขภาพช่องปากและฟันสูงมากถึงร้อยละ 91.4 ในปี 2557 และร้อยละ 90.7 ในปี 2558

สำหรับในปี 2561 นั้น ได้ดำเนินงานประสานความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรด้านสาธารณสุข และบุคลากรพัฒนาสังคมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบการดูแลอย่างเป็นองค์รวมให้กับบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและพิการซ้ำซ้อนในแต่ละท้องถิ่น โดยทำงานแบบบูรณาการ ทุกฝ่ายมีบทบาทชัดเจนบนเป้าหมายเดียวกัน คือช่วยให้เด็กพิการได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพที่เป็นองค์รวมและเรียนรู้ได้สูงสุด โดยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นอิสระ (Inclusiveness Independence)

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น หากมองให้ลึกลงไปถึงรากฐานของการสร้างคนในชาติ นั่นก็คือ การพัฒนาเด็ก ปัจจุบันเรายังหยิบยกปัญหาของเด็กขึ้นมาเป็นปัญหาสำคัญของชาติน้อยเกินไป การดูแลเด็กของเราปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มากทั้งปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในวันนี้ คือ การช่วยกันสร้างการยอมรับ สร้างความความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมเท่าที่เราจะทำได้ในทุกช่องทาง และขอให้พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูเด็ก ใช้แนวทางสร้างความผูกพันให้กับลูก โดยใช้หลักการ กิน กอด เล่น เล่า ในการเลี้ยงดูเด็กทุกกลุ่ม ไม่ว่าเขาจะมีพัฒนาที่ปกติหรือล่าช้า กิจกรรมเหล่านี้จะสามารถช่วยให้เด็กได้รับความรัก ความเอาใจใส่อันจะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และอยู่ได้อย่างกลมกลืนในสังคมต่อไป ดังคำขวัญวันเด็กประจำปี 2561 "รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี" www.rajanukul.go.th