ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต พัฒนา ฟาร์มาซีบอท (Pharmacybot) เป็นผู้ช่วยเภสัชกรอัจฉริยะ ให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจ การใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชอย่างถูกต้องแก่ประชาชนกว่า 60 รายการอาทิ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยานอนหลับ คลายกังวล ยารักษาโรคไบโพลาร์ และบริการต่างๆ ของสถาบันฯ ด้วยการแช็ตบอทออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทางเวปไซต์ www.galyamed.com สามารถสอบถามได้ทั้งพิมพ์ข้อความและเสียงพูดทางไมโครโฟนหน้าจอโดยตรง

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เขตทวีวัฒนา กทม. เพื่อติดตามการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการประชาชนที่เจ็บป่วยทางจิต ว่า สถาบันกัลยาณ์ฯนอกจากเป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่มีความเชี่ยวชาญดูแลรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคจิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่อาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนทุกโรค ให้มีสภาพกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณที่สูญเสียไปจากความเจ็บป่วย ให้กลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลทางวิชาการในระดับประเทศทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆเพื่อพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข ผลักดันทางนโยบายในการพัฒนาระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีคดีทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขยายผลใช้ทั่วประเทศ

ในภาพรวมของการพัฒนาระบบบริการสถาบันกัลยาณ์ขณะนี้อยู่ในระดับแนวหน้า มีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้บริการอย่างรวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย จัดสถานที่ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งในและนอกอาคารบริการที่สร้างสรรค์ มีความเป็นมิตร ช่วยให้ผู้ป่วยและญาติรู้สึกผ่อนคลาย เป็นสุขและมีความหวังขึ้น ให้การดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างญาติมิตรและมีมาตรฐานเดียวกัน ต่อวันให้การดูแลผู้ป่วยประมาณ 500 คน เป็นผู้ป่วยที่มีคดีเฉลี่ยวันละ 25 คน ซึ่งร้อยละ 90 เป็นชาย

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยทางจิตที่อาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อนกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง แต่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขได้เหมือนกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกายทั่วไป หากกินยาควบคุมอาการและพบแพทย์ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาผู้ป่วยมักจะกินยาไม่ต่อเนื่องหลังจากอาการดีขึ้น เนื่องจากเข้าใจผิดว่าหายเป็นปกติแล้ว รวมทั้งไม่กล้ากินยาต่อเนื่องเพราะกลัวติดยา ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นต้น หรือกังวลผลข้างเคียงของยา ไม่กล้าใช้ยาต่อ ทำให้อาการกำเริบส่งผลให้การรักษายุ่งยากขึ้นและต้องเริ่มรักษาใหม่ โอกาสหายขาดหรือทุเลาจากโรคลดลง

สถาบันกัลยาณ์ฯ จึงได้พัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เรียกว่าเอไอ Artificial Intelligence: AI) คือฟาร์มาซีบอท (Pharmacybot) เป็นผู้ช่วยเภสัชกรอัจฉริยะ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจตัวยาต่างๆ ที่ใช้รักษาโรคของสถาบันกัลยาณ์ฯแก่ผู้ป่วยและญาติ โดยผู้ป่วยจิตเวชที่รักษาที่ รพ.จิตเวชแห่งอื่นก็สามารถใช้ได้ด้วย เนื่องจากเป็นยามาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการขาดยาของผู้ป่วยจิตเวชในอนาคตลดน้อยลง

ด้าน นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า ในการจัดทำข้อมูลด้านยาจิตเวชที่สถาบันกัลยาณ์ฯใช้ซึ่งมีกว่า 200 รายการ เพื่อให้ประชาชนหรือบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับผลต่อการรักษาโรค และอาการข้างเคียงที่อาจมีได้ในผู้ป่วยบางราย โดยบริการผ่านทางเวปไซต์สถาบันกัลยาณ์ คือ www.galyamed.com ตลอด 24 ชั่วโมง จะปรากฏรายการให้เลือก 2 วิธี คือ การสแกนคิวอาร์โค้ด (QR code) ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ข้อมูลจะปรากฏทันที วิธีที่ 2 คือการแช็ตบอท ที่เมนู ทอล์ก ทู ฟาร์มาซีบอท (Talk to Pharmacybot) หรือคุยกับยาจิตเวช ใช้ได้ 2 วิธี คือสอบถามโดยการพิมพ์ชื่อยาจิตเวชที่กำลังใช้อยู่ และพูดถามที่สัญลักษณ์ไมโครโฟนที่หน้าจอ ก็จะปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับยา ขณะนี้ได้จัดทำรายการยาที่ใช้บ่อย 60 กว่ารายการ

เช่น ยารักษาโรคจิตเภท ยาคลายกังวล ยานอนหลับ ยารักษาโรคอารมณ์แปรปรวน ไบโพลาร์ ยารักษาโรคสมาธิสั้น ยารักษาโรคสมองเสื่อม เป็นต้น รวมทั้งผลข้างเคียงของยาแต่ละชนิด จะเร่งทำให้ครบถ้วนทั้งหมด จะทำให้ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจยาที่แพทย์สั่งรักษามากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามเบอร์โทร บริการตรวจรักษาของสถาบันฯอีกด้วย

นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้จัดช่องทางที่ 3 คือ แอพพลิเคชั่น “ยาจิตเวช” ขณะนี้สามารถติดตั้งแอพฯนี้ได้ทางระบบแอนดรอยด์ โดยดาวน์โหลดผ่านทางเพลย์สโตร์ (Play store) ดูได้แล้วกว่า 30 รายการ โดยจะเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมรายการยาทั้งหมด ภายใน 1-2 เดือนนี้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับกระแสการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารในยุค 4.0 ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2561 คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 63.3 ล้านคน ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7 ล้านคน ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 95 ใช้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและญาติประมาณร้อยละ 70 มีโทรศัพท์มือชนิดนี้และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลที่ได้ตามมาคือการลดการใช้กระดาษ ลดโลกร้อน ซึ่งต่อไปจะสามารถใช้ระบบนัดผู้ป่วย ติดตามผลการรักษาผ่านทางมือถือในระดับรายบุคคลได้ด้วย