ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกประสานไทย ขอความช่วยเหลือส่งยาต้านพิษจากคลังยาช่วยไนจีเรีย หลังมีผู้ป่วย 3 รายได้รับพิษโบทูลินัมท็อกซิน สปสช.ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี และ อภ.จัดส่งยาถึงประเทศไนจีเรียใน 3 วัน ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้รับยาทันเวลา

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2561 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับการประสานงานจากผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยขอรับการช่วยเหลือยาต้านพิษให้ประเทศไนจีเรีย โดยได้รับการแจ้งว่ามีผู้ป่วยชาวไนจีเรีย 3 ราย ได้รับพิษโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin) ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว 1 ราย และกำลังรักษาอยู่ในห้องไอซียู 2 ราย เนื่องจากมีภาวะระบบการหายใจล้มเหลว ทาง ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี ได้ประสานงานเพื่อยืนยันการวินิจฉัยอาการกับทางผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไนจีเรีย ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นพิษจากโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum toxin) จริง ต่อมา สปสช.จึงประสานงานองค์การสัชกรรมและผู้เกี่ยวข้องเพื่อส่งยาโบทูลินัมแอนตีท็อกซิน (Botulinum antitoxin) จำนวน 4 vial หรือ 4 หลอดไปประเทศไนจีเรีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไนจีเรียได้รับยาแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ในที่สุด

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์นี้ จะเห็นได้ว่าผลการดำเนินเพิ่มการเข้าถึงยาต้านพิษของประเทศไทยและการสำรองคลังยาต้านพิษของไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างเครือข่ายยาต้านพิษอันประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช สภากาชาดไทย หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เพียงช่วยชีวิตผู้ป่วยรับพิษในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่ขอความช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นได้อีก เช่นในกรณีนี้คือ ประเทศไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา องค์การอนามัยโลกก็ประสานงานมายังประเทศไทยเพื่อให้การช่วยเหลือ และสามารถประสานงานและดำเนินการจัดส่งได้ภายในเวลา 3 วัน ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันเวลา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การสำรองยาต้านพิษไว้นั้น เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับพิษ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากยาต้านพิษเป็นกลุ่มยากำพร้าที่มีราคาสูงมากและไม่ได้หาซื้อได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างยาโบทูลินัมแอนตีท็อกซิน (Botulinum antitoxin) มีราคา vial หรือหลอดละ 120,000 บาท ประเทศไทยเคยเผชิญกับสถานการณ์นี้เมื่อปี 2549 ที่ จ.น่านที่มีผู้ป่วยได้รับพิษจากเชื้อคลอสทริเดียม โบทูลินัมเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยได้รับพิษจากหน่อไม้ปี๊บ ซึ่งเชื้อตัวนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมไปถึงกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ หากรุนแรงก็ทำให้หายใจเองไม่ได้ ซึ่งปีนั้นมีผู้ป่วยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมากถึง 40 กว่าคน ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 50-60 คน

ในขณะนั้น กรมควบคุมโรคต้องหาซื้อยาดังกล่าวจากหลายประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อการรักษา และ WHO ก็จัดส่งยามาช่วยเรา ซึ่งกว่ายาจะเดินทางมาถึงก็ใช้เวลาถึง 6 วันหลังจากมีอาการป่วย จึงเป็นบทเรียนให้เรารู้ว่าจะต้องมีการสำรองยาต้านพิษไว้ สปสช.จึงได้มีการพูดคุยกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี, กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม กระทั่งสามารถจัดทำระบบสำรองยาต้านพิษได้ในปี 2554 เป็นต้นมา เมื่อมีผู้ป่วย หน่วยบริการสามารถโทรศัพท์มาประสานเพื่อส่งยาได้ หากเป็นพื้นที่ใกล้เคียงก็สามารถส่งได้ผ่านรถฉุกเฉิน หากทางไกล อย่างกรณีที่สมุย ก็จัดส่งทางเครื่องบิน โดยความร่วมมือขององค์การเภสัชกรรม