ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กต.จับมือ สธ.และ สปสช.จัดประชุมความสำเร็จขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยให้ผู้แทนนักการทูตแต่ละประเทศ หลังองค์การอนามัยโลกยกไทยเป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นจริงได้ เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ความสำเร็จกับประเทศอื่น เพื่อให้แต่ละประเทศบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพที่เป็นจริง

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการจัดประชุมความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: จากอดีตสู่อนาคต โดยมีผู้แทนนักการทูตของสถานทูตประเทศต่าง ๆ ในประเทศไทยและองค์กรนานาชาติอื่น ๆ ได้แก่ ธนาคารโลก องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) เข้าร่วมประชุม

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การจัดงานวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย และรักษาระดับความมุ่งมั่นสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยที่มีความสำคัญต่อสังคมและโลกในยุคโลกาภิวัตน์ และเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยลดภาระหนี้สินครัวเรือน ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงด้านสุขภาพ ประชาชนมีศักดิ์ศรี อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยจะสามารถทำระบบหลักประกันสุขภาพได้สำเร็จ แต่ก็ยังมีความท้าทายที่เราต้องจัดการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรที่เพียงพอ การยืนยันเรื่องของความถ้วนหน้า ความยั่งยืนของระบบ ซึ่งพวกเราต้องทบทวนสถานการณ์ปัจจุบัน แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองเพื่อการมองไปในอนาคตร่วมกัน

“ประเทศไทยนั้นให้ความสำคัญกับวาระหลักประกันสุขภาพเป็นวาระของการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชน เพราะประเทศจะพัฒนาได้ ประชาชนต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง เราต้องขยายผลจิตวิญญาณของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ท้ายสุดนี้ ขอยกพุทธวจนะของพระพุทธเจ้าว่า การปลอดจากโรคนั้นเป็นพรยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus)

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกผลักดันเรื่องของ health for all หรือสุขภาพเพื่อทุกคน ปัจจุบันครึ่งหนึ่งของประชากรโลกยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ องค์การอนามัยโลกจึงได้ท้าทายให้ทุกประเทศเร่งกระบวนการเพื่อทำความฝันการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชนของแต่ละประเทศให้เป็นจริง ซึ่งก็เห็นความก้าวหน้าของแต่ละประเทศมาเป็นลำดับ เช่น ประเทศเคนยา มาดากัสการ์ อินเดีย และเพื่อช่วยให้ทุกประเทศบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า องค์การอนามัยโลกมองไปที่ประเทศที่ทำเรื่องนี้ได้ดี และสามารถถอดบทเรียนเพื่อให้แต่ละประเทศนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องนี้

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวต่อว่า ผลสำเร็จของไทยเป็นสักขีพยานว่า ประเทศทุกระดับรายได้สามารถทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวยคุณก็สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้ ประสบการณ์ตรงนี้ของไทยถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า ความเชี่ยวชาญที่ไทยมีจะเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดบทเรียนให้กับประเทศอื่นๆ เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.61) ตนได้เห็นระบบอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ระบบสุขภาพปฐมภูมิ หมอครอบครัว ที่เปลี่ยนผู้ป่วยจากติดเตียงสามารถลุกขึ้นมาเดินได้ มีระบบบริการที่บ้านโดยการล้างไตช่องท้องที่ผู้ป่วยและญาติผ่านการอบรมโดยหมอและพยาบาล

“ผมถามผู้ป่วยว่าใครจ่ายเงินให้ล้างไต เขาตอบว่ารัฐบาล ผมถามต่อว่าถ้ารัฐบาลไม่จ่ายจะเป็นยังไง ลูกสาวผู้ป่วยตอบว่า ก็คงได้แค่นับวันพ่อตายโดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย นี่คือ UHC in action คือเห็นประโยชน์ได้ชัดเจน เป็นประโยชน์ซึ่งหน้า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นระบบที่ยั่งยืน เพราะคุณสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง อสม.ที่มาจากคนในชุมชน ครอบครัวผู้ป่วย ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งนี้เติมเต็มให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของพวกท่านมีความยั่งยืน เช่นเดียวกับเจตจำนงของรัฐบาลที่ต้องมีความมุ่งมั่นให้ระบบนี้เดินหน้าไปได้ การให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณด้านนี้เป็นลำดับแรกเป็นสิ่งสำคัญ ผลสำเร็จไทยบอกว่าไม่ต้องเป็นประเทศรวยแต่ประเทศนี้ก็จัดสรรงบเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนไทยได้”

นายกีบรีเยซุส กล่าวว่า รู้สึกชื่นใจมากที่เห็น 2 สิ่งนี้ในไทยที่รัฐบาลและชุมชนร่วมกันทำงานเพื่อให้ระบบนี้มีประสิทธิภาพ ประสบการณ์ของไทยบอกว่าการบรรลุหลักประกันสุขภาพไม่ง่าย ต้องใช้เวลา ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และหลักของความเสมอหน้าเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ แม้กระนั้นก็ยังมีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เช่น กลุ่มแรงงานข้ามชาติประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งองค์การอนามัยโลกยินดีที่จะทำงานกับไทยในด้านนี้เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการสุขภาพ

“องค์การอนามัยโลกยินดีที่ไทยพร้อมเป็นตัวอย่างการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประเทศอื่น องค์การอนามัยโลกพร้อมหนุนเสริมในด้านความรู้ เราพึ่งพาให้ไทยมีบทบาทนำในเรื่องเป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะเป็นประจักษ์ชัดเจนว่า หลักประกันสุขภาพไม่ใช่ความฝัน ทุกประเทศทำให้เป็นจริงได้ ตัวอย่างของไทยบอกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจริงได้” ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกผลักดันให้ทุกประเทศบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และถือว่าไทยเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่เป็นต้นแบบให้แต่ละประเทศได้ กว่า 15 ปีที่ไทยเดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น สามารถดูแลประชาชนได้ดี ประชาชนไทยกว่า 99% ได้รับการคุ้มครองหลักประกันสุขภาพ รอดพ้นจากการล้มละลายทางการเงิน การมีส่วนร่วมของชุมชน และการมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า เราพบว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดี ประชากรสุขภาพดี ส่งผลต่อการจ้างงาน มีการคาดการณ์ว่าการลงทุนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 20% และระดับการเข้าถึงสุขภาพของไทยกำลังปรับปรุงขึ้นไปให้เท่าเทียมกับกลุ่มประเทศ OECD แต่แน่นอนว่าระบบนี้ก็ยังมีความท้าทายใน 3 เรื่องคือ 1.เทคโนโลยีการรักษาใหม่และยาใหม่ที่มีราคาสูง 2.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเผชิญหน้ากับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และ 3.การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ก้าวสู่ SAFE นั่นคือต้องเป็นระบบที่ยั่งยืน มีความเพียงพอ มีความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ

“ด้วยความเป็นผู้นำของกระทรวงการต่างประเทศในเวทีนานาชาติ ทำให้เราเตรียมพร้อมร่วมกับประเทศต่างและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในการเป็นศูนย์เรียนรู้หลักประกันสุขภาพที่เป็นจริงได้ของโลกต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

นายทิม อีแวนส์ (Dr.Tim Evans) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านสุขภาพ โภชนาการและประชากรของธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกมีพันธกิจลดความยากจนในโลก เราทำงานด้านการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในด้านของการลงทุนด้านสุขภาพและการศึกษา มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่า 2 ใน 3 ของความร่ำรวยของประเทศเกิดจากการลงทุนพัฒนามนุษย์ รมว.คลังอาจจะบอกว่าการลงทุนนี้ให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า แต่ธนาคารโลกมีหลักฐานประจักษ์ชัดว่า การลงทุนพัฒนามนุษย์ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เราเข้าใจว่า รมว.คลังอาจจะประสบปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ แต่การลงทุนกับมนุษย์มีความสำคัญและช่วยลดความยากจนได้จริง ธนาคารโลกช่วยให้เรื่องนี้เป็นจริงด้วยการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 100% เพราะนี่ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

“โลกนี้มีคน 3.5 พันล้านที่เข้าถึงบริการสุขภาพได้ไม่เต็มที่ มีคนจำนวนมากต้องยากจนเพราะความเจ็บป่วย เรื่องนี้หลายประเทศต้องพิจารณาการเงินการคลังให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ด้วยการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และต้องทำให้เท่าเทียมถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ ไม่มีประเทศไหนในโลกไม่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ แม้กระทั่งประเทศยากจนก็สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนของตนได้ ลาวเป็นประเทศยากจนมาก แต่ก็มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับประเทศบูร์กินาฟาโซ ที่เป็นประเทศยากจนก็มีความก้าวหน้า ดังนั้นประเด็นของเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องการขาดงบประมาณ แต่นี้เป็นเรื่องของทางเลือกทางการเมืองและการระดมทรัพยากรเพื่อเร่งการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของประเทศตนเอง” นายอีแวนส์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง