ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสจ.อุบล ร่วมวิทยาลัยแพทย์ศาสตรฯ ม.อุบลฯ จัดกิจกรรม “หมอชวนปั่นปันบุญ” 15-17 ก.พ. นี้ สร้างกระแสออกกำลังกายให้ชาวอุบลฯ พร้อมระดมเงินบริจาคช่วย รพ.สต.ขาดแคลน “อธิบดีกรมอนามัย” เป็นประธานพิธีเปิดพร้อมร่วมปั่น ระบุเดินตามกระแส ตูน บอดี้สแลม ร่วมเสริมพลังทำดี

นพ.จิณณพิภัทร ชูปัญญา

นพ.จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรม “หมอชวนปั่นปันบุญ” ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ เกิดจากแนวคิดร่วมกันของ สสจ.อุบลราชธานี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สปสช. และชมรมสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อมุ่งสร้างกระแสออกกำลังกายต่อเนื่องให้กับประชาชนในจังหวัด ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่มีผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน และกีฬาชนิดนี้กำลังเป็นกระแสนิยม จึงคิดว่าน่าจะชวนผู้ที่ปั่นจักรยานมาร่วมกันปั่นรณรงค์ ขณะเดียวกันก็ให้มีการระดมทุนไปด้วย เพื่อนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ขาดแคลนครุภัณฑ์ ต้องซ่อมแซมอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นและไม่สามารถเบิกจ่ายได้

ทั้งนี้เบื้องต้นเรามีนักปั่นที่จะร่วมกิจกรรมครั้งนี้แล้ว 100 คน ซึ่งยังไม่นับร่วมผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มเติมอีก โดยในกิจกรรมครั้งนี้เรากำหนดระยะทาง 380 กิโลเมตร โดยจะมีการปั่นไปตามอำเภอต่างๆ ซึ่งเมื่อปั่นผ่านในแต่ละอำเภอจะมี สสอ.และ อสม. รวมถึงประชาชนเข้าร่วมปั่นจักรยานด้วยความสมัครใจ สำหรับในงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นอกจากจะเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแล้ว ยังจะร่วมปั่นจักรยานในครั้งนี้ด้วย

สำหรับ “หมอชวนปั่นปันบุญ” นับเป็นกิจกรรมครั้งแรกของเมืองอุบลฯ งานนี้คงต้องให้เครดิต นพ.วีระพันธ์ พันธ์ครุฑ รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เป็นคนริเริ่ม ซึ่งท่านเคยดำรงตำแหน่ง นพ.สสจ.อุบลฯ ด้วย และในปีต่อไปก็จะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง

ต่อข้อซักถามว่า สาเหตุในการะดมทุนบริจาคให้ รพ.สต. นพ.จิณณพิภัทร กล่าวว่า ต้องชี้แจงว่าการสร้างกระแสออกกำลังกายเป็นเรื่องหลัก ส่วนการระดมทุนบริจาคเป็นเรื่องรอง ซึ่งสาเหตุที่นำเงินบริจาคให้ รพ.สต.นั้น เนื่องจาก รพ.สต.ได้รับงบประมาณที่จำกัด และไม่มีบริการผู้ป่วยในที่สามารถหารายได้เพิ่มเช่นเดียวกับโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาทั้งอาคารและอุปกรณ์ต่างๆ ทรุดโทรมลงไป และมีรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริการโดยตรง ทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณที่ได้รับหรือเงินบำรุงเข้าไปซ่อมแซมได้ เช่น ทางเดินสำหรับผู้ป่วย เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะนำเงินบริจาคเหล่านี้ไปสนับสนุน โดยเฉพาะ รพ.สต.ที่อยู่ตามชายแดน

เมื่อรวบรวมเงินบริจาคแล้ว จะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรไปตามหลักเกณฑ์ให้กับ รพ.สต.ต่างๆ ซึ่งเงินบริจาคที่ได้รับอาจไม่ได้เยอะมาก เบื้องต้นมีเงินบริจาคเริ่มต้นแล้วประมาณ 200,000-300,000 บาทแล้ว จากการระดมทุนของพวกเราเองก่อนและการจำหน่ายเสื้อ

“ในการปั่นสร้างกระแสการออกกำลังกาย เมื่อเราปั่นไปยังพื้นที่ต่างๆ จะมีการให้ความรู้กับประชาชนถึงความคุ้มค่าของการออกกำลังกาย ซึ่งหากทำต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 วันจะเห็นผล นอกจากช่วยให้สุขภาพดีแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายในด้านการรักษาพยาบาลด้วย” นพ.สสจ.อุบลราชธานี กล่าวและว่า ส่วนที่มองว่าเป็นการทำตามกระแสตูน บอดี้แสลม โครงการก้าวคนละก้าวนั้น มองว่าหากใครทำดีแล้วเราทำด้วยก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยเสริมพลัง โดยเราทำต่อในจุดที่ไปไม่ถึง ซึ่งยอมรับว่าคุณตูนเป็นผู้ที่สร้างกระแสตรงนี้ขึ้นมา โดยกิจกรรมหมอชวนปั่นปันบุญวัตถุประสงค์หลักคือมุ่งสร้างกระแสชวนออกกำลังกาย โดยการบริจาคเป็นประเด็นรอง

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ

ด้าน นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่า โครงการนี้มีความคิดริเริ่มมาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน จ.อุบลราชธานี ทั้งหมออนามัย โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ฯลฯ โดยได้ไอเดียจากโครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม เนื่องจากพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีหน่วยบริการหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ติดชายแดนไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา ต้องดูแลทั้งคนไทย คนต่างด้าวที่ข้ามมารักษาในไทย หรือแม้แต่คนที่มีสัญชาติไม่ชัดเจน บางที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ ต้องใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง หรือบางพื้นที่ถนนก็ยังเป็นทางลูกรังยังไม่ได้ลาดยาง เจ้าหน้าที่มีความลำบากโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดังนั้นเครือข่ายสุขภาพใน จ.อุบลราชธานีจึงมีความคิดว่าจะช่วยกันจัดกิจกรรมการกุศลเพื่อทำบุญหาเงินจัดซื้อครุภัณฑ์และใช้เป็นงบประมาณในการให้บริการ

“เรามีหลักเกณฑ์อยู่ว่าจะช่วยที่ไหนบ้าง เหมือนคุณตูนวิ่ง เขาก็มีหลักเกณฑ์ว่าจะช่วยโรงพยาบาลอะไรบ้าง ของเราส่วนใหญ่เน้นที่สถานีอนามัยและ รพ.สต.ในพื้นที่กันดาร เพราะเราให้ความสำคัญกับระดับล่างสุดคือ รพ.สต. ซึ่งพวก รพ.สต. ที่อยู่ติดชายแดน เราถือว่าเป็นพื้นที่ทุรกันดารหมด” นพ.วีระวัฒน์ กล่าว

นพ.วีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องได้เงินเท่าไหร่หรือมีคนเข้าร่วมเท่าไหร่ เพราะถือว่างานการกุศลไม่ใช่การแข่งขัน เป็นการบอกบุญกันเท่านั้น ซึ่งหากมีผู้สนใจหรือเครือข่ายจังหวัดอื่นๆ อยากมาร่วมกิจกรรมก็ยินดีต้อนรับเสมอ

อนึ่ง เส้นทางกิจกรรมหมอชวนปั่นปันบุญมี 3 วัน วันที่ 15 ก.พ.2561 เริ่มพิธีปล่อยขบวนปั่นเวลา 06.00 น. ใช้เส้นทาง ทุ่งคำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ - ม่วงสามสิบ - กุดข้าวปุ้น - เขมราฐ ระยะทาง 125 กม.

วันที่ 16 ก.พ. 2561 ใช้เส้นทาง เขมราฐ - โพธิ์ไทร - ตระการพืชผล - ศรีเมืองใหม่ - โขงเจียม ระยะทาง 148 กม.

และวันที่ 17 ก.พ. 2561 เส้นทางจากโขงเจียม - สิรินธร - พิบูลมังสาหาร - สว่างวีระวงศ์ - มทบ.22 วารินชำราบ ระยะทาง 107 กม.

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคได้ที่บัญชีธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 345-0-20057-7 ชื่อบัญชี นายวีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ และนายปรีชา ทองมูล ผู้ร่วมบริจาคตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไปจะได้รับเสื้อปั่นจักรยาน 1 ตัว โดยผู้จัดจะจัดส่งให้ภายหลัง ค่าจัดส่งตัวละ 50 บาท หรือมารับด้วยตัวเองได้ที่กลุ่มงานประกันสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง