ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-เครือข่ายชุมชนร่วมสร้างท้องถิ่นน่าอยู่ร่วม ประกาศปฏิญญา “ร่วมปฏิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” สานต่อปณิธาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 นำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในวิถีชีวิต เน้นดูแลระบบนิเวศ พอเพียง พ้นเหลื่อมล้ำ ยากจน คนไทยมีสุขภาพดี มีทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต พึ่งพาจัดการตนเองได้

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 “ศาสตร์ของพระราชากับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” โดยมีการมอบโล่เกียรติยศให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 56 แห่ง และคณะกรรมการพัฒนาตำบล จำนวน 1 แห่ง จากนายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. พร้อมกับประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ “ร่วมขับเคลื่อนปฏิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” นำโดยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศาสตร์พระราชา เป็นหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ที่มีการดำเนินงานที่สามารถปฏิบัติได้จริง สสส.กระตุ้นและสนับสนุนการน้อมนำศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นทิศทาง วิธีการ ขั้นตอน และกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น อันส่งผลให้เกิดความสุขและความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งหลักการดังกล่าว สอดคล้องกับการทำงานของสสส. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งปัจจุบันมี 2,705 แห่ง ประชากร 8.5 ล้านคน โดยใช้ยุทธศาสตร์สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ การใช้ความรู้ การเคลื่อนไหวทางสังคม และนโยบายเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ อันนำไปสู่ชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งยั่งยืน

“บทบาทของชุมชนเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นสำคัญมาก ขอชื่นชมเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ที่ได้นำศาสตร์ของพระราชามาประยุกต์ใช้ “ลงมือทำ” เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง เวทีสานพลังชุมชนฯ ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ผลจากการทำจริง เกิดการตกผลึก นำไปสู่การขยายผลต่อยอด ช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” ดร.สุปรีดากล่าว

นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้นำเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กว่า 4,000 คน ประกาศปฏิญญาเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนปฏิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่น สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2561 ว่า ขอตั้งปณิธานร่วมกันที่จะมุ่งมั่นปฏิรูประบบปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้ “ศาสตร์พระราชา “เข้าใจเข้าถึงพัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” “ความพอเพียง” มากำหนดทิศทางการพัฒนา วิธีการและขั้นตอน ออกแบบกระบวนการ และทำให้ทุกๆ ปฏิบัติการของชุมชนได้ใช้องค์ความรู้ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานไว้ให้กับคนไทยและสังคมโลก เพื่อความสุขของครอบครัว ชุมชน และสังคม อย่างยั่งยืนให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์ 3 ประการ คือ

1) ร่วมกันทบทวนปฏิบัติการตนเองและสร้างรูปธรรมตามศาสตร์ของพระราชาจนเป็นวิถีชุมชนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอันสอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทยและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 ด้าน คือ 1.ระบบนิเวศชุมชน 2.การสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงของชุมชน ให้อยู่ใน “ความพอเพียง” “การพึ่งตนเองก่อนพึ่งภายนอก” 3.พ้นจากความเหลื่อมล้ำและความยากจนโดยการเกื้อกูลกัน อันส่งผลต่อคนในชุมชนมีอาหารที่พอเพียง มีสุขภาพดี มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะและศักยภาพในการจัดการตนเอง และมีสันติภาพ

2) สานและเสริมพลังกับหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการสื่อสารที่บ่งบอกถึงความร่วมมือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการขับเคลื่อนของชุมชนท้องถิ่นและสังคม

3) ผลักดันให้ข้อเสนอและชุดความรู้จากการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยชุมชนท้องถิ่น ได้รับการยอมรับจากฝ่ายนโยบายและใช้ประโยชน์เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายที่ตอบสนองต่อทิศทางนโยบายรัฐบาล

สำหรับการมอบโล่เกียรติยศ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม จำนวน 57 แห่ง ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ศูนย์ฝึกอบรมด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน 1 แห่งกลุ่มที่ 2 ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชนเชี่ยวชาญเฉพาะ (มหาวิชชาลัย) 1 แห่งกลุ่มที่ 3 ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน ระดับดีเยี่ยม 29 แห่ง กลุ่มที่ 4 ศูนย์จัดการความรู้เครือข่าย ระดับดีเยี่ยม 26 แห่ง ซึ่งล้วนมีผลการดำเนินงานดีเด่นในการดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายเกิดทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนโดยรวม