ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.บ้านแก้ง จ.ชัยภูมิ รุกพัฒนา อสม.ยุค Thailand 4.0 ใช้ แอป อสม.ออนไลน์ ประสานทำงานกับ อสม.ในพื้นที่ ติดตามผู้ป่วย ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เผยใช้สื่อสารได้สะดวก รวดเร็ว ทั้งเป็นระบบปิดช่วยรักษาข้อมูลความลับผู้ป่วย ช่วยตอบโจทย์การทำงานในพื้นที่ได้

นายวิพล โชคบัณฑิต

นายวิพล โชคบัณฑิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแก้ง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ในการทำงานดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. ด้วยขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคดิจิตอลและจากที่คนส่วนใหญ่ต่างใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์ในการสื่อสาร ประกอบกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้มีการจัดทำแอปพลิเคชันสำหรับ อสม.เฉพาะ คือ แอป อสม.ออนไลน์ ขึ้น จึงได้มีการนำมาทดลองใช้ในการประสานการทำงานกับ อสม. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 120 คน กระจายติดตามผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ และดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่

จากการใช้ แอพ อสม.ออนไลน์ ในช่วงที่ผ่านมา ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 ต้องบอกว่ามีความสะดวกและสามารถตอบสนองต่อการทำงานได้ดี นอกจากเมนูต่างๆ จัดทำขึ้นแล้ว ยังสามารถควบคุมข้อมูล จัดเก็บข้อมูลได้มาก ทั้งยังดึงข้อมูลย้อนหลังได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้วิธีสื่อสารผ่านทางแอปพลิเคชัน line ปรากฎว่า เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็ไม่สามารถดึงข้อมูลย้อนหลังได้แล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้การประสานงานและการสื่อสารค่อนข้างคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการกระจายข้อมูลให้กับ อสม. เช่น หนังสือราชการต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข จากเดิมที่จัดส่งเอกสารไปยังแกนนำ อสม. เพื่อกระจายข้อมูลต่อไป ต้องใช้เวลานานร่วมสัปดาห์กว่าจะรู้เรื่องกันได้ แต่จากแอปพลิเคชันนี้ทำให้สื่อสารกันได้ภายในวันเดียว รวมถึงการส่งข้อมูลกลับจาก อสม.เองที่มีความรวดเร็วเช่นกัน

นอกจากนั้นแอป อสม.ออนไลน์นี้ ยังเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นระบบปิดที่ทำขึ้นมาเพื่อให้กับคนทำงานเฉพาะกลุ่ม ทำให้สามารถควบคุมการสื่อสารให้อยู่ในวงจำกัดได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการทำงาน อสม.ข้อมูลส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลของผู้ป่วยที่เป็นความลับและเป็นสิทธิผู้ป่วย ทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการสื่อสารอย่างยิ่ง ซึ่งหากใครจะเข้ามาร่วมใช้หรือดูข้อมูลในแอป อสม.ออนไลน์ ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกลุ่มแอป อสม.ออนไลน์ ในพื้นที่ก่อน เรียกว่าเป็นการสื่อสารระหว่าง อสม. กับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเท่านั้น และด้วยเหตุผลนี้จึงตัดสินใจเลือกใช้แอป อสม.ออนไลน์ นี้

“กลุ่มแอป อสม.ออนไลน์ รพ.สต.บ้านแก้ง จะให้ อสม.ตั้งเสียงเตือนที่แตกต่างจากเสียงเตือนจากแอปพลิเคชันอื่นๆ ทั่วไป เพื่อให้รู้ว่าเป็นเสียงจากแอป อสม.ออนไลน์ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน พร้อมกับกำหนดข้อตกลงร่วมกันว่า อสม.ทุกคนที่ใช้แอปพลิเคชันนี้ต้องเปิดอ่านข้อมูลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือ ช่วงเช้าและเย็น เพื่อให้รู้ข้อมูลที่มีการสื่อสารเข้ามา อาทิ การให้ติดตามผู้ป่วย รายงานสถานการณ์โรคเฝ้าระวัง เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา อสม.ต่างให้ความร่วมมือด้วยดี” ผอ.รพ.สต.บ้านแก้ง กล่าวและว่า จากการใช้แอป อสม.ออนไลน์ที่ผ่านมา หากให้วิเคราะห์ความพึงพอใจน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 ในการช่วยตอบสนองความต้องการในการทำงานได้ดี

อย่างไรก็ตามการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน หรือแอปพลิเคชันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากในกลุ่ม อสม.จะมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ถนัดการใช้สมาร์ทโฟน ทั้งการใช้แอปพลิเคชัน ในกรณีที่สมาร์ทโฟนที่มีราคาถูก ศักยภาพไม่มาก จะไม่สามารถตอบสนองต่อการใช้แอปพลิเคชันได้ ทำให้การสื่อสารผ่านทางสมาร์ทโฟนไม่ดีเท่าที่ควร โดยในกลุ่มนี้จะยังคงใช้การสื่อสารในแบบเดิม ทั้งการกระจายข่าวและการส่งรายงาน ซึ่งมีจำนวนไม่มากเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาสัญญาณ โดยในบางพื้นที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งการใช้แอป อสม.ออนไลน์ นี้ ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้แต่สัญญาณ AIS เท่านั้น แต่สามารถใช้สัญญาณอื่นได้ตามความสะดวกของผู้ใช้

ส่วนตัวอย่างการสื่อสารผ่านแอป อสม.ออนไลน์นั้น นายวิพล กล่าวว่า ได้แก่ การติดตามผู้ป่วย การควบคุมโรค เช่นในกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่มารับการรักษาตามนัด เช่น วัณโรค เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมไปถึงการรับวัคซีนหากพ้นระยะเวลา 1 เดือนไปแล้วก็จะมีปัญหาต่อประสิทธิผลวัคซีนได้ จึงต้องให้ อสม.ติดตามผู้ป่วยให้มารับบริการต่อเนื่อง ซึ่งการมีแอป อสม.ออนไลน์ ทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน รพ.สต.เองยังได้ข้อมูลผู้ป่วยกลับคืนมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ตามนโยบายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) โดยจะต้องมีการรายงานความคืบหน้าการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ รพ.สต.อย่างยิ่ง

“ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ภาวะพึ่งพิง เราต้องติดตามต่อเนื่อง หากไม่มี อสม.ก็คงต้องลงพื้นที่เอง ซึ่งในพื้นที่แต่ละบ้านก็อยู่ห่างกัน จึงขอให้ อสม.ช่วยติดตามให้ และส่งข้อมูลผ่านแอป อสม.ออนไลน์ ช่วยลดเวลาการทำงานลง ไม่เสียเวลาบริการคนไข้ใน รพ.สต. ทั้งนี้หลังจากที่ระบบการสื่อสารดีขึ้น โดยเฉพาะในยุคดิจิตตอลทำให้การทำงานต้องเปลี่ยนรูปแบบไป หากถามว่าอยากให้มีการต่อยอดแอป อสม.ออนไลน์อย่างไร อยากให้มีระบบสามารถรายงานผู้ส่งข้อมูลเลย ว่ามี อสม.คนใดที่ส่งข้อมูลมาแล้วบ้างและใครที่ยังไม่ส่งมาเพื่อให้การติดตามสะดวกขึ้น การพัฒนาคลังความรู้ด้านสุขภาพ รวมถึงถึงการพัฒนาระบบการสนทนาให้ดียิ่งขึ้น” ผอ.รพ.สต.บ้านแก้ง กล่าว

นายวิพล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขรับทราบว่ามีแอป อสม.ออนไลน์ นี้ แต่การเลือกใช้ให้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละ รพ.สต.เอง ไม่ได้มีการบังคับให้ต้องใช้ระบบใดระบบหนึ่ง ซึ่ง สธ.เองก็มีการทำระบบสมาร์ท อสม. แต่ยังเป็นการสื่อสารทางเดียว (One way communication) ต่างจากแอป อสม.ออนไลน์ ที่เป็นแบบการสื่อสารสองทางที่ผู้ใช้สามารถพูดคุยซักถามได้ ทั้งยังมีคลังพื้นที่เพื่อใช้เก็บข้อมูลที่มากกว่า ดังนั้นส่วนตัวจึงเลือกใช้แอป อสม. ออนไลน์ ที่ตอบโจทย์การทำงานได้

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์นี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพ ประจำปี 2017 (WSIS 2017 Prizes Winner) สำหรับรางวัลนี้ เป็นโครงการที่สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union : ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคมโลก สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมีพิธีมอบรางวัล ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผลงานที่ทำให้เอไอเอสได้รางวัล WSIS 2017 Prizes Winner ในปี 2560 คือการพัฒนาแอปพลิเคชัน "อสม.ออนไลน์" มาช่วยส่งเสริมการทำงานด้านสาธารณสุขของ อสม. ภายใต้แนวคิด Digital For Thais ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น