ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) สาขางานอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ผลิตบุคลากรด้านวิชาชีพเครื่องมือแพทย์ให้มีทักษะด้านการบำรุงรักษา ทดสอบ และสอบเทียบเครื่องมือแพทย์ป้อนโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

นพ.ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส.ในฐานะเป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดระบบ ด้านการบำรุงรักษา ด้านการสอบเทียบ และการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมการแพทย์ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขางานอิเล็กทรอนิกส์การแพทย์ เพื่อผลิตบุคลากรสายอาชีพด้านวิศวกรรมการแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถในการดูแล ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศให้มีความถูกต้องแม่นยำ เที่ยงตรง และมีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

โดยมอบหมายให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 12 จังหวัดสงขลาลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 12 แห่งในเขตภาคใต้ เพื่อให้บุคลากรสายวิชาชีพได้ร่วมฝึกปฏิบัติงานจริงให้มีทักษะด้านการดูแลรักษาเครื่องมือทางการแพทย์ การสอบเทียบเครื่องมือแพทย์และเป็นการรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีมากขึ้น รวมทั้งเป็นการพัฒนาระบบมาตรฐานบริการทางการแพทย์ของประเทศไทยให้สามารถก้าวไปสู่มาตรฐานระดับสากลได้

นายชวลิต ดำเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพ เขต 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ได้เปิดหลักสูตรสาขางานอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2560 มีนักศึกษา จำนวน 20 คน และในปี 2561 นี้มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 40 คน เป็นการเรียนการสอนแบบทวิภาคี มี 21 หน่วยกิต เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีด้านสรีระร่างกายมนุษย์ โดยสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 12 จังหวัดสงขลาประสานอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ในการเรียนการสอน และเรียนรู้กลไกการทำงานของเครื่องมือแพทย์แต่ละชนิด เช่น เครื่องมือการรักษา เครื่องมือตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บป่วย เครื่องมือเฝ้าระวัง เครื่องมือการภาพบำบัด เครื่องมือช่วยชีวิตรวมทั้งเครื่องมือการสื่อสารทางการแพทย์เป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนภาคปฏิบัติจะเป็นการฝึกปฏิบัติในโรงพยาบาลภาครัฐเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีบุคลากรของโรงพยาบาล บุคลากรกรม สบส.ร่วมเป็นครูพี่เลี้ยงฝึกประสบการณ์ในการทำงาน