ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการส่งต่อเขตสุขภาพที่ 7 มีมติให้ส่งต่อผู้ป่วย 3 โรค “โรคหลอดเลือดสมอง - โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย – สมองบาดเจ็บจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ” จาก 3 อำเภอ จ.กาฬสินธุ์ "ท่าคันโท - หนองกุงศรี – ห้วยเม็ก” รักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ เพื่อลดปัญหาการส่งต่อล่าช้าจากระยะทางไกล หวังช่วยผู้ป่วยรอดชีวิตมากขึ้น

รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์

วันที่ 24 เมษายน 2561 ณ ห้องประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น มีการประชุมคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (ขอนแก่น) โดยมี รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์ เป็นประธานในการประชุม โดยในการประชุมครั้งนี้มีการรายงานผลการพิจารณาแนวทางการจัดการระบบส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อให้การส่งต่อเพื่อรักษาผู้ป่วยกรณีโรคที่ต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน 3 กรณี ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากขาดเลือดชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงทางคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิด (ST-segment elevation) และกรณีสมองบาดเจ็บจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ (Trauma head injury) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น เนื่องจากเกิดจากการที่มีกรณีผู้ป่วยได้รับการส่งต่อล่าช้า จนเกิดความเสียหายจากการเข้ารับการรักษาพยาบาล และได้รับการช่วยเหลือตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ.2545 หลายราย

ทั้งนี้จากมติที่ประชุมหารือแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 นั้นระบุว่า การส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากขาดเลือดชนิดที่มีการเปลี่ยนแปลงทางคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ กรณีสมองบาดเจ็บจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จากโรงพยาบาล 3 แห่ง ในจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ โรงพยาบาลท่าคันโท โรงพยาบาลหนองกุงศรี และโรงพยาบาลห้วยเม็ก ให้ส่งไปรับการรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ได้โดยตรงโดยไม่ต้องส่งผ่านโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ตามระบบส่งต่อเดิม เนื่องจากทั้ง 3 โรงพยาบาล มีระยะทางใกล้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์มากกว่า

อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติให้ทั้ง 4 จังหวัดไปจัดระดับความสำคัญว่า โรงพยาบาลใดควรเป็นโรงพยาบาลที่จะเป็นหน่วยรับส่งต่อในพื้นที่ (Node) เพื่อจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบซีทีสแกนมาให้บริการผู้ป่วย สำหรับ สปสช.นั้นที่ประชุมให้ขอให้ไปศึกษาวิธีการ และกระบวนการที่เหมาะสมในการจ่ายชดเชยค่ารักษาให้กับโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ ในกรณีที่การส่งต่อเป็นไปตามข้อตกลงของคณะกรรมการเขตสุขภาพ

นอกจากนี้ยังมีมติให้โรงพยาบาลทุกระดับทบทวนการรักษาพยาบาลกรณีคนไข้มารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในซ้ำ (Re – Admit) และกรณีที่เสี่ยงต่อการถูกคนไข้ร้องเรียน และเก็บรวบรวมเป็นภาพจังหวัด เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการส่งต่อระดับเขตทุกปี พร้อมทั้งรายงานการพัฒนาระบบบริการ ที่เกิดจากการทบทวนการรักษาพยาบาลเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีกด้วย