ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัย สวรส.แนะการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสมัครใจ ชี้โมเดล 1 รพ.สต.ต่อ 1 อปท.อาจไม่เหมาะกับประเทศไทย ควรไปแบบพวงบริการดีกว่า

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะนักวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจด้านบริการสาธารณสุขในรูปแบบการถ่ายโอนสถานีอนามัย กล่าวถึงมติคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเห็นชอบในหลักการเรื่องการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า จากที่ สวรส.ทำการประเมินผลการถ่ายโอนสถานีอนามัยตั้งแต่ปี 2550 ในมุมมองการวิจัย ผู้บริหารอาจมีคำถามว่าเมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต.หรือ หน่วยบริการปฐมภูมิแล้วมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งจะขอแยกเป็น 3 ส่วน คือ

1.ระบบสุขภาพของประเทศ ที่ผ่านมาอาจไม่ได้กระทบในระดับประเทศมากนักเพราะหน่วยบริการปฐมภูมิของ สธ. มีประมาณ 1 หมื่นแห่ง ถ่ายโอนไปแค่ 51 แห่ง ยังไม่ถึง 1%

2.ระบบสุขภาพจังหวัด มีผลกระทบบ้างในแง่การอภิบาลระบบจะมีข้อจำกัดในแง่สายการบังคับบัญชาเพราะอยู่คนละสังกัด อย่างไรก็ตาม สามารถแก้ไขได้โดยสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สนับสนุนชักจูงให้ อปท.เกิดความรู้ความเข้าใจในงานสาธารณสุขและทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็มีการออกคำสั่งว่าแม้หมออนามัยจะถ่ายโอนไปอยู่กับท้องถิ่นแล้วก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอยู่ดี เพราะฉะนั้นผลกระทบไม่มากเท่าใดนัก

3.ระบบสุขภาพอำเภอ จะมีผลกระทบบ้างไม่ว่าจะกับ CUP หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพราะ สสอ.เป็นหน่วยงานที่เชื่อมระหว่าง สธ. สสจ. อปท. และประชาชนในการกำหนดกลยุทธ์แก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ เมื่อถ่ายโอนให้อปท.แล้วก็อาจมีข้อจำกัดในการดูแลและพัฒนา รพ.สต.ในพื้นที่ ตลอดจนการสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. แต่ความสัมพันธ์ระหว่าง CUP กับ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว ระบบส่งต่อ ยาต่างๆ ก็ยังทำด้วยกันเหมือนเดิม เนื่องจากคนยังเป็นคนเดิม ยังมีความสัมพันธ์เดิมอยู่

ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของมติคณะกรรมการกระจายอำนาจฯในครั้งนี้ ดูเหมือนเป็นการบังคับ แต่ในหลักการปฏิบัติจริงคงไม่สามารถบังคับได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความพร้อมและความสมัครใจ เพราะถ้าบังคับถ่ายโอนเลยจะเกิดความโกลาหล บางพื้นที่ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นใส่ใจก็จะไปได้ไกลมาก อาทิเช่น เทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี แต่บางพื้นที่ก็ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยทางการเมืองมาเกี่ยวข้องพอสมควร เช่น ก่อนหน้านั้นดำเนินงานได้ดี แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารท้องถิ่น การให้ความสำคัญกับด้านสุขภาพอาจจะลดน้อยถอยลง เพราะฉะนั้นระบบเชื่อมโยงระหว่าง สธ.กับ อปท. ต้องสามารถเชื่อมโยงได้ไม่ว่าจะเป็นระบบส่งต่อหรืออะไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงควรต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การประสานงานหลังการถ่ายโอนแล้วมีความราบรื่นเหมือนเดิมและยึดเอาความพร้อมของแต่ละพื้นที่เป็นหลักดีกว่า

“ถ้าจะต้องบังคับถ่ายโอน ต้องบังคับในส่วนที่เขามีความพร้อม ทั้งในส่วนของ รพ.สต.ที่จะไปกับท้องถิ่นที่จะรับ และอีก 2 ส่วนที่สำคัญคือ สธ.เองก็ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการถ่ายโอน รพ.สต.ออกไป ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงมหาดไทยก็ต้องยินยอมพร้อมใจ ถ้าต้องมีระเบียบอะไรต้องแก้ก็ต้องร่วมกันแก้ปัญหา ส่วนตัวคิดว่าถ้าจะถ่ายโอน รพ.สต. 1 แห่ง ไปท้องถิ่น 1 แห่ง ในเชิงหลักการคิดว่ายังไม่เหมาะกับประเทศไทย ยังอยากให้เป็นลักษณะพวงบริการ แปลว่ารวมๆ หลาย รพ.สต. ไปขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และอาจจะมี 2-3 รพช. รวมกันเป็นพวงจังหวัด จะทำให้ไม่เกิดการแยกส่วน ง่ายในการส่งต่อผู้ป่วย แบบนี้น่าจะเหมาะสมกว่าถ้าจะมีการกระจายอำนาจ” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว