ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เด็กวิทย์ฯ มจธ.วิจัยพบสารทดแทนการใช้ยาปฎิชีวนะ ยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคทั้งคนและสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดสูญเสียทางเศรษฐกิจ 2-6 พันล้านต่อปี ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย

นายพัชรวจี ดวงแก้ว และนางสาวณีรนุช รักยิ่ง นักศึกษา และ ดร.นุจริน จงรุจา อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ค้นพบสารยับยั้งจุลินทรีย์กับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อก่อโรคบนผิวหนัง ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารกันเสียอย่างได้ผล

โดยทีมผู้วิจัย เปิดเผยถึงมูลเหตุจูงใจที่นำไปสู่ศึกษา ว่า ปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถต้านทานยาปฏิชีวนะหรือแอบแฝงมาจากการรับประทานเนื้อสัตว์มากมายและมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่การรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์นั้นกลับทำได้ยากลำบาก เนื่องจากจุลินทรีย์มีการปรับเปลี่ยนลักษณะทางพันธุกรรมและลักษณะการแสดงออกของยีน รวมถึงโมเลกุลเป้าหมายของยาต่าง ๆ ทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยมีประสิทธิภาพในการจับกับโมเลกุลเป้าหมายไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม ส่งผลให้การยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โดยการใช้ยาปฏิชีวนะในปัจจุบันกำลังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ ทั้งนี้ไม่เพียงประเทศไทยเท่านั้นในต่างประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญปัญหาในลักษณะเดียวกัน

“จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่มีการศึกษาไว้เมื่อปี 2553 พบผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาถึงปีละประมาณ 100,000 คน และเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวมากกว่า 30,000 คนต่อปี และในปี 2593 มีการคาดการณ์ว่า จะมีผู้ติดเชื้อดื้อยาถึง 10 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเป็นชาวเอเชีย”

ทีมผู้วิจัย ยังระบุด้วยว่า นอกจากการใช้ยาปฏิชีวนะจะนำมาสู่ปัญหาด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการดื้อยาของเชื้อแล้ว ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องไปสู่การสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 2,000 – 6,000 ล้านบาทต่อปีอีกด้วย ขณะเดียวกัน ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะยังส่งผลต่อการค้าและการส่งออกอย่างมหาศาล ในปี 2560 วงการการส่งออกกุ้งของไทยได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากถูกปฏิเสธการนำเข้ากุ้ง เพราะมีการตรวจพบยาปฏิชีวนะในสินค้ากุ้งส่งออก ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยมากกว่า 1,000 ล้านบาท”

ด้วยเหตุดังกล่าว ทีมผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อทางเลือกใหม่ในการหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์หรือใช้เพื่อการรักษาโรค โดยใช้เปปไทด์ต้านจุลชีพจากมนุษย์ หรือ Recombinant human peptide เป็นวิธีการที่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นวิธีการใช้สารชีวโมเลกุลที่ไม่ใช่สารเคมี แต่องค์ประกอบของเปปไทด์คือกรดอะมิโนที่ไม่เป็นอันตรายและไม่ตกค้างในรูปของสารเคมีตกค้าง และถ้าหากถูกย่อยสลายจะกลายเป็นสารตั้งต้นในการสร้างโปรตีน เปปไทด์ หรือเอนไซม์ที่มีประโยชน์ต่อไปได้อีกด้วย

ซึ่งผลการวิจัยพบว่า เปปไทด์ต้านจุลชีพ มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคบนผิวหนัง และเชื้อที่อาศัยอยู่บนผิวหนังได้ และเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อที่เป็นปัญหาสำคัญต่อการรักษาทางการแพทย์ในปัจจุบันเนื่องจากเชื้อมีกลไกในการดื้อยาปฏิชีวนะ เชื้อก่อโรคในแผลผ่าตัด เชื้อฉวยโอกาสในเด็กเล็ก และเชื้อที่ปนเปื้อนบนอาหารสาเหตุที่ทำให้อาหารเน่าเสียจนเกิดโรคอาหารเป็นพิษ

ดังนั้นจากผลการทดลองข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า Recombinant human peptide มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคบนผิวหนัง และเชื้อที่อาศัยอยู่บนผิวหนังได้ และด้วยคุณสมบัติของ Recombinant human peptide ที่ผลิตขึ้นนั้นปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เนื่องจากเป็นสารชีวโมเลกุลกลุ่มที่เป็นโปรตีน/เปปไทด์ ที่ไม่ใช่สารเคมี จึงสามารถเลี่ยงปัญหาการพบยาปฏิชีวนะ สารเคมีตกค้างในผลิตภัณฑ์ได้ ทั้งยังเป็นทางเลือกใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์หรือใช้เพื่อการรักษาโรคได้ในอนาคต นวัตกรรมจึงได้รับการยื่นจดสิทธิบัตรและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับจุลินทรีย์ก่อโรค อีกทั้งประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ทางการเกษตร ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง