ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยก 4 สุดยอดสมุนไพร ก.พบ ข. (กระชายดำ ไพล บัวบก ขมิ้นชัน) เป็นตัวชี้นำ สู่การทดลอง วิจัย และพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการรักษาโรคและการพัฒนาสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การจะทำให้สมุนไพรไทยไปสู่สากลได้นั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การทำให้คนทั่วไปรู้จักสมุนไพร มีความเชื่อมั่นในการแพทย์แผนไทย ชอบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการรู้จัก

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงได้กำหนดผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยนโปรดักส์ (Champion Products) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง จำง่ายๆ คือ ก.พบ.ข. ได้แก่ ก.คือ กระชายดำ พ.คือ ไพล บ.คือบัวบก และ ข.คือ ขมิ้นชัน จึงเป็นที่มาของ คำว่า ก.พบ.ข.ให้เป็นสมุนไพรเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ประเทศไทยส่งออกสมุนไพรและสารสกัดปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของ Euromonitor – Herbal/Traditional Products in Thailand ระบุว่าเมื่อปี 2559 ตลาดสมุนไพรทั้งเวชสำอาง อาหารเสริม เครื่องดื่มและสมุนไพรแห้ง สมุนไพรสด ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 3.92 หมื่นล้านบาทและคาดว่าจะขยายตัวเป็น 5.69 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ซึ่งถือว่าการขยายตัวมีแนวโน้มที่ดีในเชิงเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติประจำปี 2561 เพื่อให้นักวิจัย ได้พบผู้ประกอบการด้านสมุนไพรกว่า 700 ราย ถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ ให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงเศรษฐกิจของประเทศให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยและตรงความต้องการ พร้อมทั้งวางแผนการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอ โดยมียุทธศาสตร์จากแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560 – 2564) เป็นเข็มทิศในการพัฒนา มีเป้าหมายพัฒนาสมุนไพรที่มีศักยภาพของประเทศ (Champion Products) ที่ตรงความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยมีความพร้อมของวัตถุดิบสมุนไพรไทย ซึ่งมีความหลากหลายของพันธุ์พืช จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าพันธุ์พืชในประเทศไทยที่ทราบชื่อวิทยาศาสตร์แล้วกว่า 20,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรกว่า 1,800 ชนิด กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติและสมุนไพรได้รับความนิยมมากขึ้น จากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากสมุนไพรมีโอกาสและศักยภาพในตลาดโลกมากขึ้น