ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ปรับราคากลางยา 179 รายการ คาดประหยัดงบได้อีก 3.1 พันล้านบาท พร้อมผลักดันใช้ยาสามัญแทนยาต้นแบบ ช่วยลดงบได้อีกกว่า 2.4 พันล้านเร่งผลักดันนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ลดปัญหาเชื้อดื้อยา มุ่งสู่การประกาศเป็นประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลในปี 2565 พร้อมมีมติแก้ไขแนวทางจัดซื้อยาของรัฐ หนุนยาในบัญชีนวัตกรรมไทย

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 /2561 ร่วมกับคณะกรรมการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญของผลการประชุมดังนี้

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2561 ที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน โดยดำเนินการปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มเติมซึ่งมียาที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนฮิบ ในรูปแบบวัคซีนรวม 1 เข็ม ป้องกันได้ 5 โรค เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก รวมถึงยาสำหรับป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ทารกในครรภ์ และยาสำหรับโรคหลอดเลือดดำในจอตาอุดตัน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ได้มีการปรับปรุงราคากลางยาให้ทันสมัยเพิ่มเติมอีกจำนวน 179 รายการ โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณเพิ่มเติมได้อีก 3,164 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2562 ผลักดันให้มียาสามัญทดแทนยาต้นแบบทำให้เพิ่มการเข้าถึงยาใน 6 กลุ่มโรคสำคัญซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 2,400 ล้านบาท

รวมทั้งเร่งผลักดันนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและลดปัญหาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในส่วนผู้ประกอบวิชาชีพ และประชาชน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การประกาศเป็นประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU country) ในปี พ.ศ.2565 เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมผู้ผลิตยาในประเทศผ่านบัญชีนวัตกรรมไทย

นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติปรับปรุงแนวทางการจัดซื้อยาของรัฐ เพื่อสนับสนุนยาในบัญชีนวัตกรรมไทยโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ยาทั่วไป ยาชีววัตถุ และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา โดยใช้งบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม และเห็นชอบให้มีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างองค์การเภสัชกรรมและผู้ผลิตภาคเอกชน เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคงทางยา และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน