รอง ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกดูงานหลักประกันสุขภาพ จ.ขอนแก่น ชื่นชมความร่วมมือ สธ. สปสช. ท้องถิ่น วัด และชุมชนสร้างสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน แนะต่อยอดจากการทำงานด้วยการทำวิจัย จัดทำระบบบันทึกข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล ทำเป็นรายงานเป็นต้นแบบที่ดีให้แต่ละประเทศได้ศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ภายในประเทศ
พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan)
เมื่อวันที่ 26-27 สิงหาคม 2561 พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ.ขอนแก่น โดยดูงานที่ รพ.ขอนแก่น และศูนย์แพทย์วัดหนองแวงพระอารามหลวงที่เกิดจากความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ รพ.ขอนแก่น วัดหนองแวงพระอารามหลวง และเทศบาลนครขอนแก่น โดยมี นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น นายจุลนพ ทองโสภิต รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นและคณะให้การต้อนรับ
พญ.นาตยา มิลล์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ในพื้นที่ ร้อยแก่นสารสินธุ์ 4 จังหวัด (ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์) มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 77 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีโรงพยาบาล 26 แห่ง เป็นโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 21 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย 1 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 1 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง เชื่อมต่อกันด้วยการจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ไร้รอยต่อ ทั้งนี้โรคที่เป็นปัญหาสุขภาพหลักของคนขอนแก่นคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และโรคทางเดินอาหาร ส่วนโรคที่เป็นสาเหตุการตายหลัก คือ มะเร็ง ปอดบวม และไตวายเรื้อรัง หลอดเลือดหัวใจ และ ภาวะติดเชื้อ
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ และประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า ในพื้นที่มีรถอุบัติเหตุฉุกเฉินทั้งของโรงพยาบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนกว่า 190 คัน โดยมีศูนย์สั่งการที่โรงพยาบาลขอนแก่น จึงทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินรถจะเข้าถึงตัวผู้ป่วยภายใน 8 นาที และมีการฝึกอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินตามมาตรฐาน จึงทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับบริการที่รวดเร็วและได้มาตรฐาน
พญ.ซอมญ่า สะวามินาทาน (Dr.Soumya Swaminathan) รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า การดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ของประเทศไทยนั้น ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพ เพราะนอกจากการรักษาแล้ว ยังมีการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค โดยส่วนตัวเชื่อว่าแนวคิดที่ประเทศไทยทำอยู่นั้น ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะเน้นการอยู่ดีมีสุข และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
พญ.ซอมญ่า กล่าวต่อว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ในเขตจังหวัดขอนแก่น ได้เห็นรูปแบบการทำงานด้านสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งมีความน่าสนใจ การสร้างสุขภาพได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมไปถึงชุมชน วัด อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ดูแลในชุมชน (Care giver) ได้ร่วมกันสร้างสุขภาพ และดูแลรักษาสุขภาพให้ประชาชนอย่างไร้รอยต่อจากโรงพยาบาลใหญ่ไปสู่โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย จนถึงชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การสร้างหลักประกัน สุขภาพของไทยประสบความสำเร็จจนเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้
พญ.ซอมญ่า กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้มีการต่อยอดจากการทำงาน คือ การวิจัย การบันทึก การเก็บข้อมูล เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เป็นช่องทางในการเก็บรวบรวมแนวทางการทำงาน และสถิติที่เกิดขึ้น เพื่อให้เห็นว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพได้ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และลดอัตราการเจ็บป่วย ได้อย่างไร เพราะปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องการเห็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จเพื่อนำไปเดินรอยตามในอนาคต ในฐานะตัวแทนองค์การอนามัยโลกยินดีให้การสนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล และการจัดทำรายงานการดำเนินงาน เพื่อให้ประเทศอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้ามาศึกษางานหลักประกันสุขภาพในประเทศไทยด้วยตนเองจะได้ศึกษาจากเอกสารรายงานที่ทำขึ้นนี้.
- 50 views